เอเอฟพี - อองซานซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินมาตรการต่อผู้ที่ใช้ศาสนาก่อความตึงเครียดในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ทวีความดุเดือดก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเดือนหน้า
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุไม่สงบได้ปะทุขึ้นในหลายพื้นที่ของพม่า ส่วนใหญ่มีเป้าหมายที่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่เวลานี้กำลังเผชิญต่อการไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้นพร้อมๆ กับที่อิทธิพลของพระสงฆ์ชาตินิยมชาวพุทธขยายตัว
การรณรงค์หาเสียงเลืิอกตั้งที่เขตเลือกตั้งกอมู เมื่อวันเสาร์ (24) ซูจี ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับสิทธิชนกลุ่มน้อย หลังจากชาวมุสลิมในท้องถิ่นได้แสดงความต้องการสิทธิความเท่าเทียมหากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กวาดคะแนนเสียงขึ้นสู่อำนาจตามที่คาดกันอย่างกว้างขวาง
“พรรคของเราเคารพกฎหมาย ฉันสามารถพูดได้ว่าเราจะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” ซูจี กล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุนพรรคราว 1,000 คน ที่รวมตัวกันในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองกอมู
เจ้าของรางวัลโนเบลย้ำคำกล่าวอ้างที่ว่า ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเธอใช้ประเด็นทางศาสนาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนก่อนการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.
ในครั้งนี้ ซูจี ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการตั้งคำถามว่า เหตุใดพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่กองทัพให้การสนับสนุนไม่บังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ศาสนาในการรณรงค์ทางการเมือง
“รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องรักษากฎหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุข เราต้องตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปกครองประเทศว่า เหตุใดพวกเขาถึงไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสม” ซูจี กล่าว
พรรค USDP เพิ่งสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองศาสนาที่เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อไม่นานนี้ ที่ถูกเสนอโดยชาวพุทธหัวรุนแรงที่มีอิทธิพล ซึ่งรวมทั้งการห้ามเปลี่ยนศาสนา และการแต่งงานระหว่างศาสนา
ในเดือน มี.ค. รัฐบาลยังเพิกถอนเอกสารประจำตัวชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนในรัฐยะไข่ต่อสิทธิการเลือกตั้ง
ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ พรรค USDP ได้เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่พรรค โดยระบุว่า พรรคจะปกป้องสิทธิทางศาสนา ในขณะที่พระสงฆ์หัวรุนแรงเทศนาว่า ชาวมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อสังคมพม่า
ชาติตะวันตก รวมทั้งสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกว่าความตึงเครียดทางศาสนาที่เพิ่มขึ้นอาจจุดชนวนความขัดแย้งก่อนการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของการเปลี่ยนไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของพม่า หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมานานหลายทศวรรษ.