xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชี้เลือกตั้งพม่าจะตัดสินการมีส่วนร่วมในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมการประชุมระหว่างคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) และพรรคการเมือง ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 20 ต.ค. สหรัฐฯ ระบุว่าการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าและการคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับกระบวนการโดยรวมในการปฏิรูปประเทศ และการเลือกตั้งครั้งสำคัญของพม่าในเดือนพ.ย.นี้.--Associated Press/Khin Maung Win.</font></b>

รอยเตอร์ - สหรัฐฯ จะไม่ปิดหูปิดตาต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในพม่าเดือนหน้านี้ และสหรัฐฯ จะช่วยรัฐบาลในอนาคต และคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะขึ้นอยู่กับกระบวนการโดยรวม นักการทูตสหรัฐฯ เผย

แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย กล่าวต่อสภาคองเกรสว่า สหรัฐฯ มีความวิตกอย่างมากต่อการปฏิบัติของพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา และเตือนว่า การนำศาสนามาเป็นเรื่องการเมือง และการแพร่กระจายถ้อยคำสร้างความเกลียดชังอาจนำไปสู่ความรุนแรงในวันเลือกตั้ง

รัสเซล ระบุว่า สหรัฐฯ จะประเมินตามสิ่งที่เห็น และได้ยิน รวมทั้งความคิดเห็นของฝ่ายค้านทางการเมืองนำโดยนางอองซานซูจี ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง และสื่อต่างๆ

“เราจะพิจารณาไปจนถึงเช้าหลังจากวันเลือกตั้ง มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนยอมรับผลการเลือกตั้ง” รัสเซล กล่าว

“ความสามารถของเราจะช่วยรัฐบาลชุดใหม่ของพม่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจะขึ้นอยู่กับการประเมินของเราต่อกระบวนการโดยรวมทั้งหมด” รัสเซล ระบุ

การเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. ของพม่า ถูกอ้างว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรมมากที่สุดในรอบ 25 ปีของประเทศ และเหตุการณ์สำคัญนี้จะกำหนดขอบเขตของการปฏิรูปประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ยินดีต่อการปฏิรูปที่ดำเนินขึ้นหลังกองทัพพม่าถอยออกจากอำนาจในการปกครองประเทศโดยตรงมานาน 49 ปี และได้คลายมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่นับตั้งแต่นั้น แต่ยังมีความวิตกเกี่ยวกับข้อจำกัดของกระบวนการปฏิรูป

รัสเซล กล่าวว่า ความสำเร็จไม่ได้เป็นการรับประกัน และปัญหาสำคัญยังคงมีอยู่ โดยชี้ไปที่ประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของชาวโรฮิงญา 750,000 คน และการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง 75 คน เนื่องจากขาดคุณสมบัติความเป็นพลเมือง และที่อยู่อาศัย

รัสเซล กล่าวว่า นักโทษการเมืองมากกว่า 100 คน ยังคงอยู่ในการควบคุม และนักเคลื่อนไหวอีกประมาณ 400 คน เผชิญต่อข้อกล่าวหา ซึ่งรวมทั้งนักศึกษา และนักข่าว

กลุ่มหัวรุนแรงจากองค์กรชาวพุทธมะบะธา ได้ก่อความตึงเครียดทางศาสนาก่อนการเลือกตั้งด้วยการชุมนุมต่อต้านชาวมุสลิม และสนับสนุนกฎหมายที่ถูกมองว่ามุ่งเป้าโจมตีไปที่ชาวโรฮิงญา

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของอองซานซูจี คาดว่า จะทำได้ดีในการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสงวนที่นั่งในรัฐสภา 25% และตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีให้แก่กองทัพ และห้ามซูจี จากตำแหน่งประธานาธิบดี.
กำลังโหลดความคิดเห็น