รอยเตอร์ - นักการเมืองชาตินิยมชาติพันธุ์จากเขตที่ยากจนที่สุดและสถานการณ์ในพื้นที่ผันผวนที่สุดแห่งหนึ่งของพม่ากล่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนได้ยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจต้านทานได้ให้กับเขาระหว่างเดินทางเยือนจีนเมื่อไม่นานนี้ว่า "หากคุณต้องการอะไร เราจะให้คุณ"
การเอาใจของจีนที่มีต่อ เอ หม่อง ประธานพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ย้ำให้เห็นถึงวิธีที่จีนกำลังก้าวเข้าปกป้องการลงทุนทางยุทธศาสตร์ของตัวเองในพม่า (โครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซ) ก่อนการเลือกตั้งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในเดือนหน้า
ความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อรักษาการลงทุนในต่างแดนแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการไม่แทรกแซงในกิจการต่างชาติของจีน
"เราต้องการจีน หรือแม้แต่อเมริกา หรือสิงคโปร์ หากรัฐบาลอินเดียเชิญผม ผมก็ยินดี เราต้องการการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ของเรา" เอ หม่อง กล่าวกับรอยเตอร์
พรรค ANP องค์กรชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ ที่กำลังขี่กระแสความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม มีแววที่จะกวาดคะแนนเสียงเกือบทั้งหมดในรัฐยะไข่ในการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมครั้งแรกของประเทศในรอบ 25 ปี ซึ่งเก็งกันว่า เอ หม่อง อาจชนะตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐ ซึ่งนั่นทำให้เขาเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพและสำคัญสำหรับปักกิ่ง ที่การลงทุนที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ในรัฐตะวันตกของพม่า
เมืองจอก์พยู ที่ประสบกับสถานการณ์ความรุนแรงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาระหว่างชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนของจีนสำหรับเส้นทางการค้าและทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่อส่งน้ำมันและก๊าซจากเมืองจอก์พยูเชื่อมต่อกับมณฑลหยุนหนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตรงจากมหาสมุทรอินเดีย เลี่ยงช่องแคบมะละกา
.
.
ตามการระบุของเอ หม่อง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเชิญเขาไปเยือนมณฑลฝูเจี้ยนและกุ้ยโจว ในเดือนก.ค. และในการพบหารือครั้งหนึ่ง เอ หม่อง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้บอกกับเขาว่า จีนให้การสนับสนุนเพียงแค่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของประธานาธิบดีเต็งเส่ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี และพรรค ANP เท่านั้น
"พวกเขาบอกผมว่าได้ติดต่อกับ 3 พรรค และผมเป็นเพียงพรรคเดียวจากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในพม่า" เอ หม่อง ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
การเดือนทางเยือนจีน 2 ครั้งของเอหม่อง มีรายงานในสื่อท้องถิ่นของจีนและพม่าเพียงสั้นๆ และไม่ได้รายงานถึงเนื้อหาของการหารือ
เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักงานเต็งเส่งกล่าวว่า ประธานาธิบดีพม่าได้สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและ NGO และพรรคคู่แข่งทางการเมืองในพม่า
"ผมคิดว่าความพยายามของพวกเขาในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับ ANP เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการนโยบายใหม่นี้" ซอ เต เจ้าหน้าที่รัฐบาล กล่าว
เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่จีนดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ แต่ในเวลานี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีความเชื่อกำลังขยายตัวในฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าหลักการแบบเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ของปักกิ่ง
"ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราประสบกับความสูญเสียใหญ่หลวงจากการติดต่อเพียงแค่พรรครัฐบาล นั่นทำให้เราต้องการที่จะเปลี่ยน" ซู หลี่ปิง จากภาควิชาสังคมและวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกศึกษา ของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวจีน กล่าว
ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพต้อนรับการเยือนจีนของอองซานซูจี
ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและเพื่อนบ้านทางใต้ของประเทศนั้นใกล้ชิดกัน เมื่อพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารและถูกชาติตะวันตกโดดเดี่ยวประเทศ แต่ในปี 2554 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารยกอำนาจให้กับรัฐบาลกึ่งพลเรือน จีนต้องผิดหวังเมื่อโครงการเขื่อนมิตโสนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ที่จีนสนับสนุนในรัฐกะฉิ่นถูกระงับลง หลังสาธารณชนร้องเรียนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้จีนต้องปรับนโยบายของตัวเองต่อพม่า
เอ หม่อง ระบุว่าเขาไม่ได้ตอบรับอย่างเจาะจงต่อข้อเสนอความช่วยเหลือของจีน แต่กล่าวเพียงเขาชอบรถแทร็กเตอร์และเครื่องจักรทางการเกษตรที่จะช่วยการเพาะปลูกของยะไข่และยังหารือถึงทุนการศึกษา
รายงานของธนาคารโลกในปี 2557 ระบุว่า รัฐยะไข่เป็นรัฐที่มีอัตราความยากจนมากถึง 78%
แม้ข้อเสนอของจีนอาจจะช่วยเพิ่มการลงทุนในรัฐยะไข่ แต่จีนก็ยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการยึดที่ดินและทำลายสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจีนในพม่า
"มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับการเดินทางของดร.เอ หม่อง จากองค์กรท้องถิ่นและคนหนุ่มสาว ซึ่งคนหนุ่มสาวนั้นชอบนโยบายตะวันตกและความช่วยเหลือ แต่ไม่ชอบนโยบายจีน" ถู เม ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรค ANP กล่าว
การลงทุนของจีนในเมืองจอก์พยู อาจมีมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ หากรวมทั้งแผนโครงการลงทุนในปัจจุบันทั้งหมด ที่รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเป็นรูปเป็นร่างใน 2 ทศวรรษหน้า ตามการระบุของ ซี ราชา โมฮัน จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ
แต่คนในท้องถิ่นกล่าวว่า โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซไม่ได้สร้างงานให้พวกเขา
"ถ้าพูดถึงโครงการก๊าซ พวกเราทุกคนคิดว่าเมื่อพวกเขามา พวกเขาจะจ้างคนงานของเรา แต่พอพวกเขามาถึงแม้แต่คนทำอาหารก็เป็นชาวจีน" ตุน ตุน นาย นักเคลื่อนไหวท้องถิ่นอายุ 36 ปี กล่าว.