ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ได้เคลื่อนย้ายเครื่องบินรบแบบ Su-30 จำนวนหนึ่งไปยังฐานทัพอากาศบนเกาะบาตัม (Batam) ในสัปดาห์ที่่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติการบินตรวจการณ์เหนือหมู่เกาะของอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวในทะเลจีนใต้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ดินแดนแดนพิพาทกับจีน หรือประเทศเพื่อนบ้านแห่งใด แต่ก็มีโอกาสที่ความขัดแย้งจะลามเข้าสู่ดินแดนของอินโดนีเซีย นอกจากนั้น การเคลื่อนย้าย Su-30 จำนวน 4 ลำล่าสุดนี้อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าการพัฒนาสนามบินบนเกาะใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์
เกาะบาตัม อยู่ใต้จากสิงคโปร์ลงไปไม่ไกล แต่ฐานทัพอากาศที่นั่นเป็นจุดใกล้สุดที่จะไปยังหมู่เกาะนาตูนา (Natuna Islands) ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 560 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะใหญ่บอร์เนียว กับ จ.กะลิมันตัน
นาตูนา อยู่ใต้การปกครองของอินโดนีเซียมายาวนาน โดยปราศจากข้อกังขาในบรรดาเพื่อนบ้านที่มีน่านน้ำติดกัน ได้ชื่อเป็น “เกาะมิดเวย์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นชายแดนระหว่างอินโดนีเซีย กับมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีเพียงกัมพูชาประเทศเดียวที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจี เกี่ยวกับหมู่เกาะกับน่านน้ำในทะเลหลวง นับตั้งแต่จีนประกาศตนเป็นเจ้าของทะเลใหญ่เกือบทั้งหมดในปี 2555 เป็นต้นมา
อินโดนีเซียไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจีน และในปัจจุบันจีนก็ยอมรับว่าเกาะที่กล่าวถึงอยู่นี้เป็นอธิปไตยของอินโดนีเซีย ความสัมพันธ์ร่วมมือกับจีนในปัจจุบันก็ยังขยายตัวออกไปอย่างรอบด้าน สมาชิกรัฐสภาชั้นนำคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ไม่กี่วันมานี้ว่า สัมพันธ์สองฝ่ายได้พุ่งขึ้นสู่ “ระดับยุทธศาสตร์” เป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
อย่างไรก็ตาม อนาคตนั้นไม่แน่ไม่นอน เนื่องจากหมู่เกาะของอินโดนีเซียอยู่ในท่ามกลางเขตแดนพิพาทที่มีหุ้นส่วนเกี่ยวข้องอยู่หลายประเทศ และยังอยู่บนเส้นทางเดินเรือพาณิชย์สายสำคัญของโลก เสมือนอยู่ปากทางเข้าออกช่องแคบมะละกาอีกด้วย
เชื่อกันว่า Su-30 ทั้ง 4 ลำที่ปรากฏเป็นข่าวในสัปดาห์นี้ ไปจากฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเกาะสุลาเวสี (Sulawesi) ที่อยู่ห่างจากเกาะบาตัมไปหลายร้อย กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ และภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวของทางการ ได้แสดงให้เห็นอีกรูปธรรมหนึ่งในทางปฏิบัติ หลังจากอินโดนีเซียประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ ว่า รัฐบาลได้ขยาย และพัฒนาสนามบินบนเกาะนาตูนา สร้างท่าเรือขึ้นที่นั่น และกำลังจะติดตั้งระบบอาวุธที่จำเป็นเพื่อให้เป็นฐานปฏิบัติการในการป้องกันประเทศ
ภาพเครื่องบินรบทั้ง 4 ลำ ที่ไม่ได้ระบุวันถ่าย ปรากฏในเว็บไซต์ และเว็บบล็อกข่าวกลาโหมภาษาอินโดนีเซีย วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มีคำบรรยายสั้นๆ แต่เพียงว่า “Su-30 กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮังนาดิม (Hang Nadim International Airport) ในบาตัม เพื่อภารกิจบินลาดตระเวนตรวจการณ์เป็นปกติในเขตหมู่เกาะริอาว (Riau) ของอินโดนีเซีย และในทะเลจีนใต้”
นั่นคือการออกบินตรวจการณ์เป็นปกติเหนือหมู่เกาะของจังหวัดริอาว ซึ่งมีหมู่เกาะนาตูนาเป็นพื้นที่หลัก
.
2
3
การเข้มงวดกวดขันด้านความมั่นคงปลอดภัยในหมู่เก่าะแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 หลังจากผู้นำในท้องถิ่นได้รายงานถึงทางการระดับจังหวัด แสดงความวิตกว่าวันใดวันหนึ่งจีนอาจจะใช้กำลังบุกเข้ายึดครองหมู่เกาะริอาว
ความวิตกกังวลในพื้นที่ได้สะท้อนให้เห็นความกังวลในระดับรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมรีอามิซาร์ด รีอาคูดู (Ryamizard Ryacudu) ให้สัมภาษณ์ในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ว่า รัฐบาลจะเสริมสร้างกำลังที่เกาะนาตูนา เพื่อป้องกัน “การข่มขู่คุกคามใดๆ จากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้” สำนักข่าวอันตารา (Antara) ของทางการรายงานเรื่องนี้
“เราจะทำให้นาตูนามีท่าเรือ และขยายสนามบินเพื่อให้เป็นรันเวย์สำหรับเครื่องบินกองทัพอากาศ ที่นั่นควรจะรองรับเครื่องบินขับไล่โจมตีของเราได้อย่างน้อย 4 ลำ” รมว.กลาโหม กล่าวเมื่อต้นเดือน และยังขยายความอีกว่าในอนาคต จะมีเครื่องบินรบไปประจำการที่นั่นมากขึ้น รวมทั้ง ฮ.พิฆาตทันสมัย กับระบบอาวุธอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย
“เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์สงคราม แต่ว่าทะเลจีนใต้อยู่ใกล้ตัวเรามาก เราจะต้องเตรียมพร้อม ระบบอาวุธของเราดีเยี่ยม แต่ก็ยังต้องการมากกว่านี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลตลอดเวลา” พล.อ.รีอาคูดู อดีตเสนาธิการกองทัพอินโดนีเซียวัย 66 ปี กล่าว
นาตูนา มีเกาะใหญ่น้อยรวมกันเกือบ 30 เกาะ มีประชากรรวมกันกว่า 80,000 คน เกาะใหญ่เพียงเกาะเดียวมีเนื้อที่มากกว่าสิงคโปร์ราว 2 เท่า ปัจจุบันสนามบินราไน (Ranai) มีรันเวย์ลาดยางยาว 2,563 เมตร ขยายออกไปอีกราว 500 ม. เพื่อรองรับ Su-30 ภาพกูเกิลเอิร์ธยังแสดงให้เห็นว่ารอบๆ สนามบินมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งสถานีเรดาร์กองทัพอากาศ ศูนย์อำนวยการ โรงเก็บกับโรงซ่อมบำรุงเครื่องบินรบ และ ฮ.โจมตีด้วย
ตามรายงานของสื่ออินโดนีเซีย ปัจจุบันมีสายการบินเอกชน 2-3 แห่ง นำนักท่องเที่ยวไปยังเกาะนาตูนาเป็นประจำ เนื่องจากมีทะเลที่สวยงามสำหรับนักดำน้ำชมปะการัง นักตกปลา กับการท่องเที่ยว และสันทนาการอื่นๆ
.
4
5
ไม่กี่ปีมานี้ อินโดนีเซียได้เร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพอย่างรวดเร็ว กองทัพอากาศ ที่เรียกเป็นชื่อภาษาถิ่นว่า Tentara Nasional Indonesia Angkatan Udara หรือ TNI-AU ได้รับ Su-30 ที่ซื้อเพิ่มเติมจากรัสเซียอีก 8 ลำ และอัปเกรด Su-27 ที่มีอยู่ให้ทันสมัยระดับ Su-30 ทำให้มีเครื่องบินรบอเนกประสงค์ปฏิบัติการไกลตระกูลนี้ประจำการทั้งหมด 16 ลำใน เป็น Su-27SK/SKM ที่นั่งเดี่ยว จำนวน 5 ลำ Su-30MKK/MK2 ที่นั่งคู่อีก 11 ลำ
สัปดาห์ที่แล้ว อินโดนีเซียเพิ่งจะประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกเครื่องบินรบรุ่นใหม่เพื่อนำเข้าประจำการแทน F-5 “ไทเกอร์” ที่ใช้งานมานานหลายสิบปี และได้เลือก Su-35 เครื่องบินรบ “ยุคที่ 4++” จากรัสเซีย จำนวน 16 ลำ อีกไม่กี่วันถัดมาก็ได้ประกาศซื้อเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-Class) ของรัสเซียอีก 2 ลำ ตามแผนการจัดหาตลอดเวลา 5 ปีข้างหน้า
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อินโดนีเซียได้เซ็นซื้อเรือดำน้ำชั้นชางโบโก (Chang Bogo-Class) ที่ต่อในเกาหลี จำนวน 3 ลำ มีกำหนดส่งมอบปี 2558-2559 แต่ต่อมาได้เลื่อนกำหนดส่งมอบออกไปเป็นปี 2560
สัปดาห์กลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียยังประกาศการสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ติดระบบเรดาร์ ระบบค้นหาทันสมัย กับระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ แบบ AS 565 ของยูโรคอปเตอร์ จำนวน 11 ลำ พล.ร.ต.เอ็ม ไซนุดดิน (M Zainuddin) โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า จะได้รับ 4 ลำแรกในปี 2560 สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงาน
โฆษกคนเดียวกันกล่าวอีกว่า ยูโรคอปเตอร์ AS 565 “แพนเซอร์” (Panther) ทั้ง 11 ลำ สามารถใช้งานได้หลายภารกิจ รวมทั้งการยิงโจมตี หรือยิงสนับสนุน ปราบเรือรบผิวน้ำ การช่วยเหลือกู้ภัย และภารกิจทางการแพทย์
กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียแถลงก่อนหน้านี้ว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในระหว่างนี้ จะดำเนินไปอย่างมีขั้นตอน ตามฐานะทางการเงินของประเทศ โดยได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แล้วทั้งสิ้น และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากองทัพเพื่อการป้องกันประเทศ.