xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน” ไฟเขียว! รัสเซียทำข้อตกลง “ตั้งฐานทัพอากาศ” ถาวร ในเบลารุส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียออกโรงสนับสนุนในวันเสาร์ (19 ก.ย.) ต่อแผนการตั้งฐานทัพอากาศรัสเซียในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบลารุส ถือเป็นก้าวย่างล่าสุดของรัฐบาลมอสโกในการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของตนในต่างแดน

ท่าทีล่าสุดของผู้นำแดนหมีขาวในวันเสาร์ (19) มีขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกันกับการก่อตัวของความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯและโลกตะวันตก เกี่ยวกับบทบาทของรัสเซียต่อวิกฤตในยูเครน และสงครามกลางเมืองในซีเรีย

การประกาศให้ไฟเขียวของปูตินต่อข้อเสนอของรัฐบาลมอสโก ในการลงนามในข้อตกลงเพื่อตั้งฐานทัพอากาศรัสเซียในเบลารุสครั้งนี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะในโลกตะวันตกมองว่านี่อาจเป็นการส่งสัญญาณของทางเครมลินต่อการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของตนในต่างแดน อีกทั้งยังเป็นการเหนี่ยวรั้งชาติเพื่อนบ้านอย่างเบลารุสให้ยังคงอยู่ในวงโคจรด้านภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียต่อไป

ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงมอสโกเปิดเผยว่า แผนการดังกล่าวของรัสเซียในการขอตั้งฐานทัพอากาศในเบลารุส น่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี และไม่น่าจะต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลเบลารุส หรือประชาชนชาวเบลารุส และนี่จะถือเป็นการตั้งฐานทัพเต็มรูปแบบในต่างแดน ครั้งแรกของรัสเซียนับตั้งแต่สิ้นยุคโซเวียตที่เคยมีการตั้งฐานทัพในคิวบาและเวียดนามมาก่อน

รายงานข่าวระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดในการตั้งฐานทัพอากาศรัสเซียในต่างแดน โดยเฉพาะในอดีตประเทศ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อนนั้นถูกนำเสนอโดยเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียตั้งแต่เมื่อปี 2013 และถือเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงเมื่อปี 2009 ระหว่างรัฐบาลรัสเซียและเบลารุส ในการร่วมกันปกป้องพรมแดนและน่านฟ้าร่วมกัน

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงในรัฐบาลรัสเซียเผยว่า รัสเซียต้องการใช้ฐานทัพอากาศในเบลารุสเพื่อรองรับการประจำการของเครื่องบินขับไล่ “Su-27”

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในระยะหลังที่มีการแสดงออกถึงความต้องการในการแผ่ขยายอิทธิพล ทั้งทางการเมืองและการทหารอย่างโจ่งแจ้ง กำลังสร้างความกังวลให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ที่เคยตกอยู่ใต้เขตอิทธิพลของโซเวียตมาก่อนตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มขยับตัว เพื่อหาทางรับมือภัยคุกคามจากมอสโก

ก่อนหน้านี้เมื่อ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลโปแลนด์เพิ่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการทหารครั้งประวัติศาสตร์ กับทางการสวีเดน หวังจับมือกันรับมือภัยคุกคามจากรัสเซียที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำพื้นที่แถบ “ทะเลบอลติก” ทางตอนเหนือของยุโรป

โดยรายงานข่าวจากกรุงวอร์ซอว์ เมืองหลวงของโปแลนด์ ระบุว่ารัฐบาลโปแลนด์และสวีเดนได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ ในการเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคงระหว่างกันโดยทั้งโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และสวีเดนซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของนาโต ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็น ในการร่วมมือกันปกป้องความมั่นคงและสันติภาพแถบทะเลบอลติก ถึงแม้ในระหว่างการแถลงข่าวหลังการลงนามข้อตกลงที่เมืองหลวงของโปแลนด์เมื่อวันจันทร์ (14) จะไม่มีการเอ่ยถึงภัยคุกคามจากรัสเซียโดยตรง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการจับมือเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงในครั้งนี้ ระหว่างโปแลนด์กับสวีเดนนั้น ต้องการพุ่งเป้าไปที่การรับมือภัยคุกคามจากรัฐบาลมอสโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน โดยตรง

“ครั้งหนึ่งทะเลบอลติกเคยเป็นน่านน้ำแห่งสันติภาพ แต่ในเวลานี้ได้กลายเป็นน่านน้ำที่เต็มไปด้วยอันตราย” โทมาสซ์ ซีโมเนียค รัฐมนตรีกลาโหมของโปแลนด์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับปีเตอร์ ฮูลต์ควิสต์ รัฐมนตรีกลาโหมของสวีเดนที่กรุงวอร์ซอว์

ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของสวีเดน กล่าวว่า การที่รัสเซียยังคงเดินหน้าส่งเรือรบและเครื่องบินรบ เข้าสู่ทะเลบอลติกอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และว่ากิจกรรมทางทหารของรัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างสำคัญ คือ แรงผลักดันให้รัฐบาลสวีเดน จำเป็นต้องมองหาพันธมิตรด้านความมั่นคงในภูมิภาค

หนึ่งในเนื้อหาสาระสำคัญของข้อตกลงการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างโปแลนด์และสวีเดนในครั้งนี้ คือ การที่ทั้งสองประเทศจะเพิ่มงบประมาณทางทหารอีก 11 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 5 ปี และจะกระชับความร่วมมือกับนาโต

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงต่างประเทศสวีเดนเพิ่งเรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงสต็อกโฮล์มเข้าชี้แจง หลังจากโฆษกรัฐบาลรัสเซียออกคำแถลงซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าสวีเดนจะถูกตอบโต้อย่างสาสมหากตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโตซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของโลกตะวันตก