คลิกที่นี่เพื่อชมภาพเคลื่อนไหว
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - องค์การนาซ่าได้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวชิ้นหนึ่งในช่วงข้ามวันมานี้ อันเป็นผลงานของเทคโนโลยี 3 มิติเสมือนจริงล่าสุดที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวิเคราะห์สรรพสิ่งในย่านใจกลางของพายุรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น และพยากรณ์ทิศทาง ตลอดจนเรี่ยวแรงของพายุแต่ละลูกได้แม่นยำชัดเจนยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นก็จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจอีกต่อไป การพยากรณ์อากาศในพักหลังนี้มีความแม่นยำราวกำหนดชะตากรรมของพายุได้ โดยมีเพียงการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันทันด่วนทางด้านภูมิอากาศเป็นตัวแปร แต่ก็จะไม่ใช่อุปสรรคใหญ่อีกต่อไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือที่ก้าวหน้ามากกว่าเดิมในการสนับสนุนงานของนักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ ได้แพร่ภาพสามมิติแบบ “กิฟแอนิเมชั่น” แสดงให้เห็นการหมุนของลมแรงในย่านใจกลางของ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่นอัสนี” (Atsani) ในตอนสายวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐฯ/ญี่ปุ่นดวงหนึ่งเคลื่อนผ่านย่านแปซิฟิกตะวันตกได้ไม่นาน และส่งข้อมูลเกี่ยวกับไต้ใฝุ่นระดับ 4 ลูกนี้เข้าสู่ระบบ
ตามรายงานของนาซ่า ดาวเทียม Global Precipitation Measurement หรือ GPM ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสองประเทศ เคลื่อนผ่านไต้ฝุ่นอัสนีเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ตามเวลาในท้องถิ่น และส่งภาพระบบไมโครเวฟไปยังศูนย์ควบคุมที่เมืองกรีนเบลต์ (Greenbelt) รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งได้เปิดเผยให้เห็นฝนที่กำลังตกอย่างหนักในย่านใจกลางของไต้ฝุ่นชื่อไทยลูกนี้ ขณะเดียวกัน ภาพอินฟราเรดอีกจำนวนหนึ่งจากดาวเทียม MTSAT2 ของญี่ปุ่นก็ได้เปิดเผยให้เห็นพายุใหญ่ทั้งลูก
ข้อมูลรายละเอียดจากดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดคำนวณออกมาได้ว่า กำลังเกิดฝนหนักในระดับ 90 มิลลิเมตร (3.5 นิ้ว) ต่อชั่วโมงในย่านใจกลาง ซึ่งก็คือส่วนที่เป็น “นัยน์ตา” ของพายุ ในขณะเดียวกัน ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด ของนาซาที่อยู่ไม่ไกลกันออกไปได้ประมวลข้อมูลกับภาพทั้งหมดออกมา เป็นภาพสามมิติเสมือนจริงที่ดูตระการตายิ่ง ซึ่งช่วยทำให้มองเห็นพายุใหญ่ได้ทุกแง่ทุกมุมโดยรอบ 360 องศา
ภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติดังกล่าวบอกให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า ลมที่กำลังหมุนติ้วอย่างเร็ว และแรงอยู่ในย่านใจกลางของไต้ฝุ่นอัสนีนั้นก่อตัวขึ้นเป็นชั้น (Tower) มีความสูงถึง 16.8 กิโลเมตร (10.4 ไมล์)
แน่นอน.. ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ทางอุตุนิยมเท่านั้น หากยังเป็นตัวเลขแห่งการเป็นการตายสำหรับอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของโลกอีกด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
ตอนค่ำวันพุธ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ไต้ฝุ่นอัสนีได้ทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 5 เต็มพิกัด ในขณะที่ไต้ฝุ่นโคนิ (Coni) ที่อยู่หางออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นไต้ฝุ่นระดับ 3 เต็มขั้น และแม้นักพยากรณ์อากาศจะไม่เชื่อว่า ไต้ฝุ่นชื่อเกาหลีลูกล่าสุดนี้จะไม่เคลื่อนตัวขึ้นบกที่ใดก็ตาม แต่อิทธิพลของไต้ฝุ่นที่ทรงพลัง และมีมวลอันใหญ่โตนี้ก็มากพอที่จะทำให้ภาคเหนือของฟิลิปปินส์เตรียมรับมือต่อฝนตกหนักอย่างเต็มที่
องค์การนาซาตรวจจับการก่อตัวของพายุโซนร้อนโคนิได้เมื่อวันที่ 13 ส.ค. อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ได้เห็นการก่อเกิดของพายุโซนร้อนอัสนีอีกลูก พายุใหญ่ทั้ง 2 ลูกได้พัฒนาขึ้นเป็นไต้ฝุ่นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นไต้ฝุ่นคู่ใหม่ในย่านแปซิฟิกตะวันตก
นับเป็นโชคดียิ่ง มหาไต้ฝุ่นทั้ง 2 ลูกกำลังเคลื่อนตัวทำวงโค้ง ม้วนตัวกลับออกไปยังทะเลแปซิฟิกตอนกลางในวันสองวันนี้ ไม่มีลูกใดมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ หรือมุ่งหน้าถล่มแผ่นดินใหญ่จีน เกาหลี ญี่ปุ่นโดยตรง.
.
2
3
4
5