xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ส่งเสียงเตือนปัญหาสุขภาพจากการเคี้ยวหมากในหมู่ชาวพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เผยให้เห็นพ่อค้าขายหมากจัดเตรียมหมากพร้อมทานที่ร้านแห่งหนึ่งใกล้กรุงเนปีดอ.--Agence France-Presse/Ye Aung Thun.</font></b>

เอเอฟพี - ขณะบังคับรถแท็กซี่ท่ามกลางการจราจรคับคั่งย่านใจกลางนครย่างกุ้ง เมียว มิน ไต คนขับรถก็ขยับขากรรไกรเป็นจังหวะต่อเนื่องบดเคี้ยวก้อนหมาก และยาเส้นที่ทำให้ฟันของเขาเต็มไปด้วยคราบสีแดงเข้ม

ภายในเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างมากในตอนนี้ เมียว มิน ไต คุ้นเคยต่อการใช้เวลาในวันที่แสนยาวนานบนท้องถนน และ “การเคี้ยวหมาก” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เขายังดำเนินชีวิตต่อไป

“ผมรู้สึกง่วงนอนตอนเริ่มขับรถ ผมเลยเคี้ยวหมากเพื่อช่วยให้ตื่น” ชายชาวพม่าอายุ 32 ปี กล่าว

การเคี้ยวหมากเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วทั้งพม่า แต่การเคี้ยวหมากมาพร้อมกับผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ รวมทั้งการเสพติด ทำให้ฟัน และเหงือกเป็นคราบ และยังมีความเสี่ยงสูงที่ผู้เคี้ยวจะเป็นมะเร็งช่องปาก

เส้นยาสูบ หมาก ปูนขาว และเครื่องเทศแล้วแต่จะเลือกผสมนำมาห่อรวมกันในใบพลูเป็นก้อนเล็กๆ มีจำหน่ายแพร่หลายอยู่ทั่วพม่า ที่ช่วยเพิ่มความตื่นตัว กระตุ้นพลังงาน และลมหายใจที่สดชื่น

“ผมเริ่มเคี้ยวหมากเพื่อแก้ปวดฟัน ผมไม่ค่อยชอบมันเท่าไหร่แต่มันทำให้อาการปวดฟันของผมหายไปได้ และผมก็เริ่มชอบมัน” เมียว มิน ไต กล่าวด้วยริมฝีปากที่เต็มไปด้วยคราบสีแดง

นครย่างกุ้ง เป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารเปิดทางให้รัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าบริหารประเทศแทนในปี 2554 ที่เป็นผลให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่

แต่ยังคงมีบางสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ สีแดงเข้มของหมากที่ถูกถ่มลงบนทางเท้าทุกหนแห่ง
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ใบพลูถูกจัดเรียงไว้อย่างสวยงามในเข่งเพื่อรอจำหน่ายที่ตลาดค้าส่งใกล้นครย่างกุ้ง.--Agence France-Presse/Ye Aung Thun.</font></b>
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.ค. คนขายหมากหั่นหมากเป็นชิ้นเล็กๆ เตรียมขาย ในราคาคำละ 200 จ๊าต.--Agence France-Presse/Ye Aung Thun.</font></b>
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.ค. คนขายหมากเรียงใบพลูที่มีหมาก ปูนขาว เครื่องเทศ เตรียมพร้อมไว้บนโต๊ะ ห่อขายได้ทันทีที่มีลูกค้า.--Agence France-Presse/Ye Aung Thun.</font></b>
.
ลูกค้าเข้าคิวรอซื้อหมากที่ซุ้มขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทั่วเมืองในราคาขายห่อละ 200 จ๊าต (ประมาณ 7 บาท) หรือตามหาบเร่แผงลอยที่คนขายวางห่อหมากในถาดขายให้แก่ผู้สัญจรผ่านไปมาตามทางแยกต่างๆ

การขายหมากนับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีให้แก่คนขาย เช่น เมียว มี้น ตุน ที่ตื่นนอนตั้งแต่ 3.00 น. ทุกวันเพื่อออกไปขายหมากให้แก่บรรดาผู้โดยสารรถไฟที่สถานีรถไฟของเมือง ซึ่งนอกจากลูกค้าขาประจำราว 20 คนแล้ว ยังมีอีกประมาณ 80 คน ที่แวะซื้อในแต่ละวัน ทำรายได้ให้เมียว มี้น ตุน ประมาณ 40 ดอลลาร์ นับว่าเป็นรายได้ดีในประเทศที่รายได้เฉลี่ยในปี 2555 ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อเดือน

“คนส่วนใหญ่ในพม่าเคี้ยวหมาก นี่เป็นวัฒนธรรมของพม่าที่มีมาอย่างยาวนาน” เมียว มี้น ตุน กล่าว

แต่แพทย์เตือนว่า การเคี้ยวหมากเพื่อช่วยกระตุ้นนั้นเป็นการทำลายสุขภาพในประเทศที่ระบบการแพทย์ยังขาดแคลน

“พม่าเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ใช้ยาสูบไร้ควันสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชาย” ดร.พิเรนธา นาเรน สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวต่อเอเอฟพี

งานวิจัยของ ดร.สิงห์ พบว่า มากกว่าครึ่งของชายชาวพม่าใช้ยาสูบไร้ควัน ขณะที่หญิงชาวพม่ามีอัตราการใช้ยาสูบไร้ควันที่ 16% โดยยาสูบ และหมากต่างเป็นสารก่อมะเร็ง และ 1 ใน 5 ของการเจ็บป่วยทั้งหมดในพม่าคือ มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับช่องปาก

ดร.สิงห์ ยังระบุว่า ผู้ที่เคี้ยวหมากโดยไม่ผสมยาสูบมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในช่องปาก และมะเร็งคอหอยส่วนบนถึงมากกว่าผู้ที่ไม่เคี้ยวหมาก 250% ส่วนผู้ที่เคี้ยวยาสูบนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 770%

“ประชาชนชาวพม่ายังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง หรือผลกระทบต่อสุขภาพจากการเคี้ยวหมาก” ดร.ทัน เส่ง จากมูลนิธิสุขภาพประชาชน (PHF) กล่าว

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า พม่าจัดสรรงบประมาณสำหรับการดูแลสุขภาพในสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในโลกเพียง 0.5% ของจีดีพี ในปี 2556 น้อยกว่าประเทศซูดานใต้ และเฮติ เทียบกับงบประมาณสำหรับกองทัพมีสัดส่วนถึง 4.3% ของจีดีพี ในปี 2557 ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม

แม้ว่าซองบุหรี่ในพม่าเวลานี้จะมีรูปภาพเตือนถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้าน แต่หมากยังคงไม่มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์

มูลนิธิสุขภาพประชาชนได้ผลิตแผ่นพับ และโปสเตอร์ที่มีเป้าหมายจะเผยแพร่ข้อความไปทั่วประเทศ และต้องการที่จะติดป้ายเตือนที่ร้านขายหมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า กำลังศึกษาข้อเสนอดังกล่าว

ความพยายามที่จะทำให้ชาวพม่าละเลิกพฤติกรรมการเคี้ยวหมากดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การเคี้ยวหมากเป็นวัฒนธรรมปฏิบัติที่ฝังลึกไปทั่วเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนกลับไปหลายศตวรรษ แต่ ดร.ทัน เส่ง ระบุว่า ได้แรงบันดาลใจจากประเทศเพื่อนบ้าน

“หากคุณเดินทางไปที่ประเทศไทย คุณจะเห็นว่าไม่มีใครเคี้ยวหมากกันแล้ว แม้แต่ในชนบท หากคุณไปมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน แล้วทำไมประชาชนของเรายังคงรักษาสิ่งนี้เอาไว้” ดร.ทัน เส่ง ตั้งคำถาม

เมียว มิน ไต ที่นั่งอยู่หลังรถแท็กซี่ของตัวเองระบุว่า ตระหนักดีถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ 12 ปีผ่านไป เขาก็ยังไม่สามารถเลิกเคี้ยวหมากได้

“ผมกลัวเจ็บป่วยแต่ก็อยู่ไม่ได้ได้ถ้าขาดมัน” เมียว มิน ไต กล่าวยอมรับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น