xs
xsm
sm
md
lg

น้ำดื่มบรรจุขวด : ภาพสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานย่ำแย่ของพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>คนงานกำลังขนถ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดลงจากรถบรรทุกที่ศูนย์กระจายสินค้าในนครย่างกุ้ง.--Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>

เอเอฟพี - น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมผู้บริโภคจำนวนมากที่เกิดขึ้นเมื่อพม่าหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลทหารนานหลายทศวรรษ แต่ด้วยราคาประมาณ 300 จ๊าตต่อลิตร ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดยังคงเป็นสินค้าที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 1,105 ดอลลาร์เท่านั้น

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนานหลายทศวรรษที่การลงทุนเกิดน้อยมาก ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 8 ใน 10 ต้องดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่ปลอดภัย เช่น บ่อน้ำ น้ำพุ และลำธาร โดยมีประชาชนเพียง 9% เท่านั้นที่เข้าถึงระบบประปา

ทุกเช้าระหว่างทางไปทำงานในย่างกุ้ง ซอ มิน ตุน คนงานก่อสร้างจะแวะดื่มน้ำอึกใหญ่ที่วัด สถานที่สำคัญที่จะช่วยดับกระหายให้แก่คนทั่วไปที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอันเนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโต

โครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ ผนวกรวมกับน้ำดื่มบรรจุขวดราคาสูง ทำให้คนท้องถิ่นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ซอ มิน ตุน ต้องพึ่งน้ำจากหม้อดินเผาที่คนแปลกหน้าใจดีตั้งไว้ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

“นี่เป็นที่ที่ผมต้องรอรถโดยสาร ถ้าผมหิวน้ำผมก็จะอาศัยดื่มตรงนี้” ซอ มิน ตุน กล่าว ท่ามกลางแดดร้อนด้านนอกวัดในย่างกุ้ง
<br><FONT color=#000033>ชาวพม่าหยุดดื่มน้ำจากโถดินเผาที่ให้ดื่มฟรีริมถนนในนครย่างกุ้ง น้ำดื่มบรรจุขวดยังคงเป็นสินค้าที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับชาวพม่าจำนวนมาก.--Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>
ในอีกด้านหนึ่งของความเจริญของผู้บริโภคของพม่า โฆษณาน้ำดื่มบริสุทธิ์ติดอยู่บนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และข้างรถบรรทุกที่วิ่งไปมาในนครย่างกุ้ง และเมืองอื่นๆ ด้วยข้อความที่อ้างถึงประโยชน์เพื่อสุขภาพ “ดื่มอัลไพน์เพื่อชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดี” สโลแกนของอัลไพน์ ยี่ห้อน้ำดื่มของบริษัทท้องถิ่นที่ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 200 ล้านขวดในพม่าเมื่อปีก่อน และมีโครงการที่จะผลิตออกมาให้ได้ 300 ล้านขวดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดของพม่ายังคงห่างไกลจากจุดอิ่มตัว

ในปี 2556 การบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดต่อหัวของพม่าอยู่ที่ 0.1 ลิตร ตามรายงานปี 2557 โดยนักวิจัยจาก Euromonitor International เทียบกับ 21 ลิตร ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม

เนสท์เล่ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติที่เข้าดำเนินธุรกิจในตลาดน้ำดื่มของพม่า แม้จะยังไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ในเวลานี้ก็ตาม

“ธุรกิจนี้มีอนาคตมาก ประชาชนร่ำรวยขึ้น ชนชั้นกลางมีความคาดหวังมากขึ้น” สาย สัม ตุน ซีอีโอบริษัท Lo Hein ที่เป็นเจ้าของน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้ออัลไพน์ กล่าว

สำหรับชนชั้นกลางของพม่า บริษัทบรรจุขวดเช่นที่กล่าวไปข้างต้นให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า หลังจากที่ไม่นานนี้เกิดเหตุอื้อฉาวในอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน

“ก่อนหน้านี้ มีกิจการขนาดเล็กจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องการบำบัดน้ำ พวกเขาเพียงแค่นำน้ำมาจากใต้ดิน หรือจากท่อประปาของเมือง” สาย สัม ตุน กล่าว

ความกังวลเกี่ยวกับน้ำดื่มไม่สะอาดกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ที่ในเดือน ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามน้ำดื่มมากกว่า 70 ยี่ห้อ เมื่อตรวจพบว่าไม่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

เฟนตัน ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลียที่ช่วยเหลือบริษัทเครื่องดื่มตะวันตก และโรงแรมต่างๆ เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดปลอดภัยในพม่า กล่าวว่า ธุรกิจต่างๆ ได้ตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าถึงน้ำสะอาดปลอดภัย เพราะแม้ว่าจะทำมันฝรั่งทอดก็จำเป็นต้องใช้น้ำที่สะอาดที่สุด

การจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดนานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ทำให้พม่าล้าหลัง และโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมสภาพ รวมถึงระบบประปา จากรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรที่เผยแพร่ในเดือนนี้ พบว่า มีผู้อยู่อาศัยในเมืองเพียง 31% ที่บริโภคน้ำสะอาด และมีเพียงแค่ 2% สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

แม้แต่ในนครย่างกุ้ง ที่เป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ บ่อน้ำ และสระน้ำเป็นแหล่งน้ำสำหรับผู้อยู่อาศัยราว 7 ล้านคนของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบชานเมือง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง และความพยายามอย่างมาก แม้แต่เมืองเช่น ย่างกุ้ง

บริษัท Egis จากฝรั่งเศสได้รับมอบหมายจากทางการนครย่างกุ้งให้ดำเนินการแผนฟื้นฟูท่อประปาใต้เมืองที่มีความยาวหลายพันกิโลเมตร ซึ่งผู้ประสานงานโครงการระบุว่า เครือข่ายท่อประปาส่วนใหญ่มีอายุราว 50-70 ปี ซึ่งท่อเหล่านี้จะถูกทำความสะอาด และซ่อมแซม คาดว่าพื้นที่ใจกลางนครย่างกุ้งจะมีน้ำดื่มสะอาดส่งผ่านท่อภายใน 5 ปี แต่หากเป็นทั้งเมืองอาจต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี.
<br><FONT color=#000033>ชาวพม่าเดินเร่ขายน้ำดื่มบรรจุขวดบนถนนในนครย่างกุ้ง.--Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น