xs
xsm
sm
md
lg

พม่าหวังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ดึงดูดนักลงทุนแข่งตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>คนงานพม่าทำงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. โครงการก่อสร้างเฟสแรกบนพื้นทีขนาด 15,000 ไร่ ที่จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของโรงงานราว 100 โรง.--Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>

รอยเตอร์ - เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) ริมฝั่งแม่น้ำย่างกุ้ง กำลังเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของพม่า นิคมอุตสาหกรรมการผลิตมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ ที่ออกแบบให้ดึงดูดการลงทุน และช่วยให้พม่าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาเฟสแรก ขนาด 15,000 ไร่ ที่ตั้งอยู่ห่างจากนครย่างกุ้งเพียง 1 ชั่วโมง เหลือเวลาเพียงอีกไม่กี่เดือนการก่อสร้างก็จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีโรงงานตั้งขึ้นประมาณ 100 โรง และจ้างงานกว่า 50,000 ตำแหน่ง

ด้วยปัญหาคอร์รัปชัน การถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก และขาดการลงทุนเมื่อครั้งยังอยู่ภายใต้ปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้พม่ามีแรงงานส่วนเกินจำนวนมาก และรัฐบาลชุดปฏิรูปหวังใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีอยู่มากนี้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น

ผู้ผลิตหลากหลาย ตั้งแต่บริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ไปจนถึงโรงงานผลิตของเล่นที่เรียกว่า “Cute Myanmar” ต่างพร้อมที่จะเข้าตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาแห่งนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกขับเคลื่อนโดยบริษัทมิตซูบิชิ บริษัทมารุเบนิ และบริษัทซูมิโตโม ของญี่ปุ่น โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุน

“รัฐบาลพม่าตั้งใจจริง พวกเขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิม“” ทาเคชิ ยาไน ประธานพัฒนาเขตเศรษฐกิจติลาวาพม่า-ญี่ปุ่น (MJTD) ที่ถือหุ้น 49% ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา กล่าว

ในเวลานี้ พม่าที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลกึ่งพลเรือน กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นักพัฒนาหวังให้โครงการติลาวา ช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จากที่ในปีงบประมาณล่าสุด มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI อยู่ที่ 8,100 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 25 เท่า จาก 329.6 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2552-2553 ก่อนกองทัพสละอำนาจให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

นอกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาแล้ว พม่ายังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คือ ทวาย ทางภาคใต้ และจอก์พยู ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ

แต่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเขตเศรษฐกิจติลาวาเป็นอันดับแรก มีการตัดถนนสายใหม่ ออกใบอนุญาตลงทุน และยังมีแผนที่จะขยายท่าเรือในบริเวณใกล้เคียง และจนถึงตอนนี้มีบริษัทลงทะเบียนแล้ว 41 บริษัท โดยเป็นบริษัทจากญี่ปุ่นถึง 21 ราย

เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ที่แม้ในเวลานี้จะเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของพม่า แต่รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่บริษัทซูมิโตโม ประกาศเมื่อเดือนก่อนว่า บริษัทชนะประมูลสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซมูลค่า 5,000 ล้านเยน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบการผลิตได้ในเดือน ก.ค.2559

“เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวามีความสำคัญอย่างมาก มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ” ทานากะ อากิฮิโกะ ประธานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กล่าว

บริษัทโคโย เรดิเอเตอร์ บริษัทในเครือโคโยกรุ๊ปของญี่ปุ่น เลือกเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามโรงงานในเครือของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศใกล้เคียง

“ค่าแรงในอินโดนีเซีย และจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องประสบต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากในแง่ของผลกำไรบริษัท” ทาคุมะ อิจิริ ผู้อำนวยการจัดการบริษัทโคโยราด เมียนมาร์ ในเครือโคโยกรุ๊ป กล่าว

นอกจากข้อได้เปรียบในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายจากแรงงานของพม่า รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างค่าแรงราคาถูก กับค่าจ้างที่ยุติธรรม

ประธานรัฐสภาพม่า ได้แนะนำให้ค่าแรงขั้นต่ำของพนักงานรัฐที่ 3,000 จ๊าตต่อวัน (2.75 ดอลลาร์) เป็นมาตรฐานสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบกับค่าแรงในไทยที่ประมาณ 9.14 ดอลลาร์ และค่าแรงในเวียดนามที่ 6.35 ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ ต่อ 33.56 บาท)

แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก Mekhong Watch หน่วยงานเฝ้าระวังที่มีสำนักงานในกรุงโตเกียว ที่ตรวจสอบการลงทุนในภูมิภาค ระบุว่า ชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่อาศัยโดยไม่ได้รับการชดเชยที่เพียงพอ

กอ นาย อู หนึ่งในผู้ที่ต้องย้ายที่อยู่ไปยังชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกว่า Japan New Quarter ระบุว่า เขาได้รับเงินจำนวนหนึ่ง และบ้านไม้หนึ่งหลังบนที่ดินขนาด 25 คูณ 50 ฟุต แทนที่ดินผืนเก่าของตัวเองขนาด 5 ไร่ เขาหวังที่จะทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ซึ่งบรรดาผู้ที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยได้รับข้อเสนอให้ฝึกงาน และทำงานที่นั่น

“ถ้าผมได้งานที่นั่น ความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น แต่ความรู้สึกของผมในตอนนี้ผมต้องการไปที่อื่นมากกว่า” กอ นาย อู กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น