ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ลูกๆ ครอบครัวหนึ่งที่แขวงไซยะบูลีของลาว ได้ออกประกาศหาบิดาที่ข้ามแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นเวลา 11 ปีแล้ว และไม่ได้กลับบ้าน ลูกๆ ได้ขอวิงวอนไปยังใครก็ตามที่พบเห็นบิดาตามที่ปรากฏอยู่ในรูปภาพ ได้โปรดบอกให้กลับบ้าน ทุกคนรอด้วยความกังวล และคิดถึงอยู่เสมอ มีรายงานเรื่องนี้ในสำนักข่าวออนไลน์ กับเฟซบุ๊กของชาวลาว ซึ่งทำให้ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก
หลายคนเป็นกังวลว่า “ท้าวสีพา” บุคคลในภาพนี้อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ หรือถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมง ซึ่งโอกาสที่จะรอดกลับไปนั้นมีน้อยลง ราษฎรชาวเน็ตในลาวยังคงถกเถียงเรื่องนี้ และในชั่วเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา มีผู้แชร์รูปภาพ กับประกาศแจ้งความชิ้นนี้กว่า 700 ครั้ง
ปัจจุบัน อายุ 57 ปี นายสีพา เป็นราษฎรชาวบ้านเมืองปา เมือง (อำเภอ) ปากลาย แขวงไซยะบูลี ไปทำงานในประเทศไทยตั้งแต่เดือน เม.ย.2547 ไม่มีผู้ใดพบเห็น และไม่มีข่าวคราวใดๆ นับตั้งแต่นั้น ลูกๆ ทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นชาย 2 คน หญิงอีก 2 คน พร้อมภรรยาได้ขอร้องให้เว็บไซต์ “ประกาศด็อทคอม” (Pakaad.Com) ช่วยตีพิมพ์เผยแพร่ภาพของบิดา และภาพของลูกๆ เพื่อให้บิดาได้ดู
อาจจะนานเกินไป ตั้งแต่นายสีพา ได้จากทุกคนในครอบครัว ราษฎรออนไลน์ในลาวจำนวนไม่น้อยหวั่นวิตกว่า นายสีพา อาจจะถูกล่อหลวงไปในทางไม่ดี หรืออาจจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้ว หลายคนสงสาร เห็นอกเห็นใจครอบครัวนี้ บางคนบอกว่าเป็น “หัวอกเดียวกัน”
“ຖ້າໄປແບບບໍ່ຖືກຕ້ອງຕາມກົດໝາຍ ອາດຈະຖືກຫຼອກໄປເຮັດວຽກທີ່ເຮືອຫາປາກາງທະເລ ເປັນການຍາກທີ່ຈະໄດ້ກັບມາ, ຢູ້ເຮືອຫາປາທີ່ປະເທດໄທມີຂະບວນການຄ້າມະນຸດ ອອກທະເລແລ້ວບໍ່ໄດ້ກັບເຂົ້າຝັ່ງ ຖ້າໃຜຝືນຜູ້ນັ້ນຖືກຂ້າຖິ້ມ” ผู้ใช้ชื่อว่า Tong Phamkham โพสต์ความเห็นลงในเฟซบุ๊ก แสดงความเป็นกังวลว่า นายสีพา อาจตกเป็นเหยื่อขบวนการล่อลวงไปทำงานบนเรือหาปลา และยากที่จะได้กลับเข้าฝั่ง เพราะผู้ใดฝ่าฝืนไม่เชื่อฟัง ผู้นั้น “ถูกฆ่าทิ้ง”
แต่ก็เป็นได้ที่ นายสีพา ยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่...
“ບໍ່ແມ່ນແຕ່ງງານໃໝ່ລະບໍ້ ກັບມາຫາລູກຫາເມຍຊະ ອີ່ຕົນລູກຕົນເມຍແນ່” Kataiy Chansouda (กระต่าย จันสุดา) เขียนความเห็น ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ นายสีพา อาจจะแต่งงานใหม่ไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ควรจะกลับลาว ซึ่งตนเองรู้สึกสงสารลูกเมียที่รออยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้นามว่า “ຂໍ່ໂທດ ເພື່ອຫຍັງ” (ขอโทษเพื่ออะไร) มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ.2545 เพื่อนบ้านคนหนึ่งถูกหญิงที่รู้จักกัน ชักชวนไปทำงานในนครเวียงจันทน์ แต่ต่อมา ถูกนำไปขายใช้แรงงาน ทำงานในบ้านที่อุดรธานี แต่อีกไม่นานต่อมาก็ถูกนำไปขายอีกทอดหนึ่ง และไปทำงานเป็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเหยื่อไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย และไม่มีโอกาสได้ออกนอกบ้าน เนื่องจากเกรงจะถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม ฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และจะถูกคุมขัง
เป็นเวลาหลายปีต่อมา เหยื่อได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของบ้านในกรุงเทพฯ มากขึ้น มีโอกาสได้ออกไปไหนมาไหน เริ่มรู้จักถนนหนทาง รู้ทางหนีทีไล่ จึงตัดสินใจหลบหนี โดยมีเงินบาทที่เก็บเล็กผสมน้อยเอาไว้เป็นค่าโดยสารรถประจำทาง ไปยัง จ.อดุรธานี ด้วยบัตรประจำตัวประชาชนลาว ทำให้เดินทางเข้าลาวได้ และกลับถึงบ้านเกิด ท่ามกลางความงุนงงของญาติๆ ที่เข้าใจว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว
ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศไทย ได้นำไปสู่อีกหลายปัญหาทางสังคม และศีลธรรม รวมทั้งอาชญากรรมด้วย รัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวได้ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมา ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยการลงทะเบียนแรงงาน ซึ่งสื่อของทางการรายงานว่า ปัจจุบันสำเร็จไปแล้วราว 200,000 คน แต่ก็ยังอาจจะมีอีกเท่าๆ กัน ที่ยังเป็นแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทย
ปลายปีที่แล้ว ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.มุกดาหาร ของไทย ได้ออกระเบียบห้ามชาวลาวอายุต่ำกว่า 18 ปี เดินทางข้ามแดน เนื่องจากเกรงจะตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ.