ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ได้เกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้งในภาคเหนือของลาวในช่วงเดือนนี้ ในขณะที่หลายเขตในภาคกลาง ภาคตะวันตก จนถึงภาคเหนือของพม่าก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน ภาพล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม แสดงให้เห็นทหารออกช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในเขตย่างกุ้ง กับเขตพะโค โดยอพยพผู้คนไปอาศัยในเขตผู้อพยพชั่วคราว ที่ทหารจัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาทุกข์
เว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่า เกิดฝนตกหนักทั่วอาณาบริเวณภาคกลางในวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ เขตพะโค เขตอิรวดี จนถึงเขตตะนาวศรีที่อยู่ใต้ลงไป ส่งผลให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง บางท้องถิ่นระดับน้ำท่วมสูงตัดขาดเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ขึ้นถึง 4 แห่ง ในขณะที่เกิดเหตุดินเลื่อน และโคลนถล่มในรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
น้ำท่วมสูงทำให้ถนนหลายสายถูกตัดขาด ทั้งในเขตเมืองสิตตเว (Sittwe) ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐ เมืองจ๊อกทอ (Kyauktaw) ทองงุบ (Taungup) และเมืองบูติดอง (Buthidaung) ที่อยู่ถัดไป ฝนยังตกหนักในวันที่ 26 มิ.ย. หลายพื้นที่ในเขตเมืองดังกล่าวน้ำเอ่อขึ้นจากลำน้ำลำธารในท้องถิ่น ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงกว่า 3 ฟุต (ราว 1 เมตร) ในตัวเมืองบูติดอง และเกิดดินเลื่อน โคลนถล่มในเมืองบูติดอง กับมองดอ (Maungdaw) ราษฎรราว 200 ครัวเรือน ต้องอพยพไปอาศัยในแหล่งพักพิงชั่งคราวที่กองทัพจัดขึ้น สถานที่ทำการของรัฐ และโรงเรียนทุกแห่งในย่านนี้ต้องปิดลง เว็บไซต์แห่งเดียวกันกล่าว
ในรัฐกะเหรี่ยง น้ำป่าได้ไหลหลากเข้าท่วมทางหลวงสายเมียวดี จากชายแดนไทยหมู่บ้านหลายแห่งถูกน้ำท่วม ยังมีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมคล้ายกันนี้ ทั้งในเขตอิรวดีในภาคกลาง เขตพะโค รัฐมอญ และเขตตะนาวศรี ราษฎรหลายร้อยคนอพยพขึ้นสู่ที่สูง ทหารได้นำสิ่งอุปโภคบริโภคพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอาหาร เข้าช่วยเหลือ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ไข่ รวมทั้งน้ำดื่ม
ภาพถ่ายดาวเทียมในเช้าวันที่ 29 มิ.ย.นี้ แสดงให้เห็นกลุ่มเมฆหนาปกคลุมไปทั่วทะเลอันดามัน กับอ่าวเบงกอล อันเป็นอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยากลางได้รายงานเกี่ยวกับฝนตกจนถึงตกหนัก ทั้งในเขตสะกาย (Sagaing) ทางตอนเหนือ เขตย่างกุ้งในภาคกลาง รวมทั้งในนครย่างกุ้ง ไปจนถึงรัฐกะฉิ่น ที่อยู่ติดชายแดนจีนทางตอนเหนือด้วย
ทางการได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไปติดตามรายงาน และพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และ เตรียมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่ลุ่มริมแม่น้ำลำธารต่างๆ
ในขณะที่ทุกภูมิภาคในประเทศไทยกำลังประสบภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ในลาวได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายแขวง (จังหวัด) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน และทำให้เกิดอุทกภัยในแขวงไซยะบูลี ที่อยู่ติดชายแดน จ.เลย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ของไทย กับแขวงหัวพันที่ติดชายแดนเวียดนามในภาคเหนือ
ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย. ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายหมู่บ้าน เมือง (อำเภอ) เซียงค้อ แขวงหัวพัน กระแสน้ำไหลบ่าเข้าสู่ตัวเมืองอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนจำนวนไม่น้อย ทางการท้องถิ่นได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือราษฏรผู้ประสบภัยในวันถัดมา หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา รายงาน
กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ของลาว รายงานในช่วงเดียวกันว่า มวลอากาศร้อนจัดที่ปกคลุมทั่วทุกภาคของประเทศเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝนตกทั่วไปจนถึงหนัก และฝนตกฟ้าคะนองระดับเบา ถึงระดับปานกลาง เกิดลมกระโชกแรงในหลายท้องถิ่น รวมทั้งนครนครเวียงจันทน์ด้วย และเกิดฝนตกกระจายทั่วภาคใต้
.
2
3
4
ภาพที่เผยแพร่ผ่านประชาคมออนไลน์ชาวลาว ยังแสดงให้เห็นน้ำท่วมสูงในเขตเมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี ในสัปดาห์กลางเดือนนี้ กระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมท้นหลายหมู่บ้าน ทำให้บานเรือนราษฏรได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง น้ำท่วมทำให้เส้นทางสัญจรไปยังเมืองแก่นท้าว กับเมืองบ่อแตน ถูกตัดขาด
ต่างไปจากพม่าซึ่งฝนที่ตกหนักในเขตที่ราบใหญ่ตอนกลางของประเทศ จะไหลลงแม่น้ำสาขา และลงสู่แม่น้ำอิรวดีสายใหญ่ แม่น้ำพะโค แม่น้ำย่างกุ้ง หรือแม่น้ำสาละวิน กอนจะไหลลงทะเลอันเดามันอย่างรวดเร็ว แต่มวลน้ำจากน้ำฝนในลาวต้องใช้เวลานับสิบวันในการเคลื่อนลงไปตามแม่น้ำโขง ผ่านกัมพูชา ก่อนจะไปไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ในภาคใต้เวียดนาม
ทุกปีที่ผ่านมา การเกิดอุทกภัยแต่เนิ่นๆ ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. มักจะเป็นสิ่งบอกเหตล่วงหน้าว่า จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ทั่วประเทศอาจต้องประสบอุกภัยอย่างรุนแรง ฝนตกในเขตป่าต้นนำทางตอนเหนือ ทำให้มีมวลน้ำมหาศาลไหลงสู่เบื้องล่าง ถูกเก็บกักในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่เกือบ 30 แห่ง
น้ำต้นทุนเหล่านี้จะได้รับการหนุนเนื่องจากน้ำฝนปริมาณอีกมหาศาลที่เกิดจากฝนตกหนักในช่วงถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูไต้ฝุ่นในทะเลจีนใต้เริ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบถึงภาคเหนือลงไปจนถึงกาคกลาง และภาคใต้ของลาว.
เมืองเชียงค้อ-หัวพัน 23-25 มิ.ย.2558
5
6
7
เมืองปากลาย-ไซยะบูลี 14-16 มิ.ย.2558
8
9
10
11