เอเอฟพี - สหภาพยุโรประบุว่า ร่างกฎหมายแต่งงานของพม่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย หลังรัฐสภาพม่าผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้ ที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของอิทธิพลชาตินิยมชาวพุทธหัวรุนแรง
ร่างกฎหมายแต่งงานพิเศษของสตรีชาวพุทธที่ได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (7) เป็นส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายที่แต่เดิมมาจากการแนะนำของพระสงฆ์หัวรุนแรง
ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ออกเผยแพร่มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. เพื่อควบคุมการแต่งงานระหว่างหญิงชาวพุทธ และชายต่างศาสนา ที่คู่ชายหญิงต้องยื่นเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อขออนุญาต และประกาศต่อสาธารณชนถึงการหมั้นหมาย หากไม่ถูกคัดค้าน ทั้งคู่จึงจะสามารถแต่งงานกันได้ และหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกนาน 2 ปี
“ร่างกฎหมายนี้เลือกปฏิบัติต่อสตรี ด้วยการกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิของสตรีที่นับถือศาสนาพุทธที่จะสมรสกับผู้ที่นับถือต่างศาสนา” สหประชาชาติระบุในคำแถลงที่ออกในวันพุธ (8) และว่ากฎหมายนี้จะเป็นอันตรายต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการลงนามให้เป็นกฎหมายจากประธานาธิบดีเต็งเส่ง เป็นกฎหมายฉบับที่ 2 จากทั้งหมด 4 ฉบับ ที่ถูกเสนอผ่านรัฐสภา โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนมองว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากความกลัวระหว่างชุมชนชาวพุทธ และมุสลิม
กฎหมายควบคุมประชากร ยังอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกกฎระเบียบการวางแผนครอบครัวเพื่อลดอัตราการเกิด ที่ได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนำมารวมกันแล้ว กฎหมายชุดนี้จะบ่อนทำลายการมุ่งไปสู่การปรองดองในชาติ และสังคมประชาธิปไตย สหภาพยุโรป ระบุ
พม่า ที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศนับถือศาสนาพุทธต้องเผชิญต่อความรุนแรงทางศาสนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังคลื่นความรุนแรงปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ ในปี 2555 ที่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และได้แพร่ลามเกิดขึ้นไปทั่วประเทศ
กลุ่มสิทธิมนุษนชนสตรีราว 100 กลุ่ม ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านกฎหมายแต่งงาน ที่เป็นผลให้หลายกลุ่มถูกข่มขู่คุกคาม
“ประชาธิปไตยของประเทศเรานั้นอ่อนแอ และเปราะบางมาก กฎหมายนี้ไม่ควรออกบังคับใช้” สมาชิกรัฐสภาจากรัฐชิน กล่าวต่อสภาก่อนการลงมติในวันอังคาร (7) แต่สมาชิกพรรครัฐบาลกล่าวว่า กฎหมายจะให้สิทธิเท่าเทียมกับหญิงชาวพุทธ หากพวกเขาแต่งงานกับชายที่นับถือต่างศาสนา
ประชากรพม่าเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างน้อย 4% และอีกประมาณ 4% นับถือศาสนาคริสต์ แม้ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขเก่า และน่าจะประเมินต่ำไป
พม่าได้เผชิญต่อการตรวจสอบของต่างชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังผู้อพยพสิ้นหวังหลายพันคนได้รับการช่วยเหลือขึ้นจากเรือง่อนแง่นที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวโรฮิงญาราว 140,000 คน ต้องไร้บ้านหลังเกิดความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อ 3 ปีก่อน และหลายคนได้หลบหนีการเลือกปฏิบัติ และความสิ้นหวังในค่ายผู้อพยพ.