เอเอฟพี - พม่าระบุวันนี้ (20) ว่า พร้อมที่จะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่มนุษย์เรือ นับเป็นความคิดเห็นที่ประนีประนอมที่สุดของพม่า ในขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชุมหารือเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพที่เกิดขึ้นในภูมิภาค
สื่อทางการพม่ารายงานคำแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ว่า พม่ามีความวิตกเช่นเดียวกับประชาคมโลก และพร้อมที่จะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในทะเล หลังสหประชาชาติเตือนว่า ผู้อพยพหลายพันคน รวมทั้งชนกลุ่มน้อยโรฮิงญายังคงติดอยู่นอกชายฝั่ง
การปฏิบัติของพม่าต่อชุมชนมุสลิมโรฮิงญาถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นหนึ่งของต้นตอปัญหาของการอพยพข้ามอ่าวเบงกอล
ชาวโรฮิงญาเกือบ 3,000 คน จากพม่า และผู้อพยพชาวบังกลาเทศได้เดินทางขึ้นฝั่งในอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังถูกกลุ่มค้ามนุษย์ทิ้งกลางทะเล และเชื่อว่ามีเหยื่อหลายพันคนยังติดอยู่กลางทะเลในสภาพขาดน้ำ และอาหาร
ในวันอังคาร (19) UNHCR หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เตือนว่า ผู้คนราว 2,000 คน ที่รวมทั้งผู้หญิง และเด็กยังติดอยู่บนเรือนอกชายฝั่งทางตะวันตกของรัฐยะไข่ เป็นเวลานานกว่า 40 วัน และมีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรง ความอดอยาก และขาดน้ำ
เรือหลายลำที่เชื่อว่าอัดแน่นไปด้วยชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศยังไม่ได้แล่นเรือลงมาทางใต้ผ่านทะเลอันดามัน เพราะการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปฏิเสธที่จะรับเรือเหล่านี้
สหประชาชาติ และสหรัฐฯ ได้นำนานาชาติเรียกร้องให้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดท่าเรือรับเรือผู้อพยพเหล่านี้มากกว่าที่จะให้แค่น้ำ อาหาร และผลักดันเรือกลับออกสู่ทะเล
พม่า ปฏิเสธการใช้คำว่า “โรฮิงญา” แต่ใช้ “เบงกาลี” ในการอ้างถึงกลุ่มคนประมาณ 1.3 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศว่า เป็นคนต่างชาติที่อพยพเข้าประเทศผิดกฎหมาย และทางการพม่ายังปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองของคนกลุ่มนี้ ทั้งยังควบคุมความเคลื่อนไหว และออกข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งกำลังพิจารณากฎหมายควบคุมประชากรที่จะส่งผลกระทบต่อชาวโรฮิงญา
ในครั้งแรกรัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อเสนอว่า พม่าต้องรับผิดชอบบางส่วนของวิกฤต และยังปฏิเสธที่จะยืนยันว่า จะเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 29 พ.ค.อีกด้วย แต่ท่าทีในวันนี้ (20) ดูอ่อนลงหลังถูกกดดันจากประเทศเพื่อนบ้านของพม่า รวมทั้งจากภายในประเทศเอง
โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวเมื่อวันจันทร์ (18) ว่า กลุ่มมุสลิมชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสิทธิมนุษยชน
“พวกเขาเป็นมนุษย์ ผมเห็นพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิตามสิทธิมนุษยชน” ญาน วิน โฆษกพรรค NLD กล่าว
อองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD ก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อการไม่พูดถึงประเด็นชะตากรรมของโรฮิงญา ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้แตกแยกมากขึ้นต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวพุทธก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้
ผู้คนมากกว่า 200 ชีวิตถูกฆ่า และอีกจำนวนหลายหมื่นคนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ต้องไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ไร้ที่อยู่หลังเกิดเหตุความรุนในปี 2555 ระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม และชาวพุทธท้องถิ่นในรัฐยะไข่.