ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชาวเวียดนามจำนวนได้ทยอยไปยื่นขออนุญาตต่อสถาบัน หรือโรงพยาบาลที่ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศได้รับมอบหมาย เมื่อกฎหมายฉบับหนึ่งที่อนุญาตให้สตรีที่เป็นพี่น้อง หรือเครือญาติสามารถตั้งครรภ์แทนกันได้ มีผลบังคับใช้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ในจำนวนดังกล่าวมีเพียง 14 ราย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และได้รับอนุญาตไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากทุึกฝ่ายรอความชัดเจนทางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ อีกหลายคู่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามกล่าวว่า ตัวเลข 14 ราย สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายให้การคุ้มครองแล้วก็ตาม แต่ “การอุ้มบุญ” ก็ยังมิใช่เรื่องง่าย ทางการยังคงควบคุมอย่างระมัดระวังยิ่งยวด ป้องกันการเสี่ยงที่จะเกิดเป็นปัญหาทางทางข้อกฎหมาย ทางสังคม และศีลธรรมในอนาคต
ข้อกฎหมายดังกล่าวที่บรรจุเอาไว้ในรัฐบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ปี พ.ศ.2557 ได้ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา (National Assembly) เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว และเริ่มมีผลบังคับวันที่ 15 มี.ค.ปีนี้ โดยมีเนื้อใหญ่ใจความอนุญาตให้สตรีสามารถตั้งครรภ์แทนคู่สมรสที่มีบุตรยาก โดยจะอนุญาตให้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถจะมีบุตรด้วยกันได้ หลังแพทย์ยืนยันว่า ฝ่ายหญิง ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ แม้จะมีการช่วยเหลือทางเทคนิคก็ตาม
แต่ผู้ที่จะตั้งครรภ์แทนนั้นต้องเป็นพี่ น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องภายใน 3 รุ่นของสามีหรือภรรยา ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อของทางการ
กรมสุขภาพการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม แถลงเมื่อวันศุกร์ 15 พ.ค.นี้ว่า ระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลแม่และเด็กแห่งต่างๆ ได้เปิดให้บริการปรึกษาด้านจิตเวชศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ฟรี สำหรับคู่สมรสที่มีสุขภาพร่่างกายแข็งแรงที่ไม่สามารถจะมีบุตรได้โดยลำพัง และ ปรารถนาที่จะมี ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ในช่วงเดียวกันนี้ โรงพยาบาลสูติศาสตร์กลาง (Central Obstetrics Hospital) กรุงฮานอยเพียงแห่งเดียวได้รับเรื่องยื่นขออนุญาตเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนเอาไว้เป็นจำนวนกว่า 100 กรณี แต่มีเพียง 13 ราย ที่เข้าเกณฑ์และได้รับอนุญาต ซึ่งรอเข้าสู่กระบวนการในทางปฏิบัติต่อไป และถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถรวบรวมตัวเลขสถิติทั่วประเทศได้ในขณะนี้ แต่ในนครใหญ่ต่างๆ เชื่อว่าจะมีผู้ไปติดต่อจำนวนหลายร้อยคู่
โด่ยโสงฟ้าบหลวต (กฎหมายกับชีวิตประจำวัน) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาเวียดนาม รายงานอ้างสตรีคนหนึ่งจาก จ.บั๊กซยาง (Bắc Giang) ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงฮานอย ซึ่งระบุว่า เธออายุ 38 ปี และได้ขอให้น้องสาวแท้ๆ ของเธอตั้งครรภ์แทน ซึ่งต้องใช้เอกสารอ้างอิงมากมาย งานเอกสารนี้ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ก่อนจะเข้ากระบวนการตรวจทางการแพทย์ ซึ่งใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง และอยู่ระหว่างรอคอยฟังผลการตรวจตลอดหลายวันที่ผ่านมา
เธอกล่าวว่า กระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวน่าจะเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญของหน่วยงานรับผิดชอบ หลายเรื่องเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจเนื่องจาก “ยังไม่ได้รับคำแนะนำ” และเชื่อว่าคู่สมรสทั่งประเทศกำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ นอกจากนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เธอกับสามีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรเพื่อจะได้มีบุตรตามกฎหมายด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว
สตรีที่ทราบเพียงชื่อย่อรายนี้บอกว่า เธอแต่งงานมา 12 ปี และเพียรพยายามที่จะมีบุตร ซึ่งแพทย์ในท้องถิ่นกล่าวว่า ไม่อาจจะเป็นไปได้ เนื่องจากความบกพร่องการเจริญพันธุ์ของทั้งสองฝ่าย เธอกับสามีใช้วิธีการต่างๆ มากมายตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพการเจริญพันธุ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กฎหมายที่มีผลบังคับใช้นี้จึงกลายเป็นความหวัง และน้องสาวของเธอยินดีที่จะตั้งครรภ์ให้
ไม่เพียงแค่จะต้องผ่านกระบวนการอันหยาวเหยียดในหน่วยงานของรัฐเท่านั้น การอุ้มบุญยังอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับชาวเวียดนามทั่วไปอีกด้วย
โด่ยโสงฟ้าบหลวต ได้อ้างข้อมูลจากผู้อ่านบางคนที่มีประสบการเรื่องนี้ว่า คลินิกหลายแห่งทั้งในภาคใต้ และภาคเหนือที่เคยทำให้บริการทำอุ้มบุญก่อนกฎหมายฉบับใหม่จะมีผลบังคับ รวมทั้งในประเทศต่างๆ ละแวกเดียวกันนี้ จะมีรายจ่ายทางการแพทย์ ตั้งแต่ 200-400 ล้านด่งเงินเวียดนาม (306,000-612,000 บาท)
การทำให้สตรีคนหนึ่งตั้งครรภ์แทนอีกคนหนึ่งนั้น จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์อย่างสูง และใช้เทคโนโลยีเพื่อรับประกันสุขภาพทั้ง แม่และเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แม่อุ้มบุญ สื่อออนไลน์กล่าว
.
.
นายโห่สีหุ่ง (Hồ Sỹ Hùng) รองผู้อำนวยการสำนักงานให้ความช่วยเหลือสุขภาพการเจริญพันธุ์ ในกรุงฮานอย กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีสตรีกับคู่สมรสไปขอคำปรึกษาไม่ต่ำกว่า 3,000 คู่ ในนั้นราว 5% เป็นฝ่ายสตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก นอกจากนั้น มีอีกจำนวนมากที่เคยพยายามตั้งครรภ์ด้วยวิธีผสมเทียม (ผ่านกระบวนการตัวอ่อนแช่แข็งในหลอดแก้ว) แต่ “ไม่ติด” ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
“เราได้พบกรณีที่น่าเห็นอกเห็นใจแบบนี้เป็นจำนวนมากในช่วงที่กฎหมายตั้งครรภ์แทนยังไม่ออกมา และในขณะนี้กฎหมายได้กลายเป็นความหวังของทุกคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตร ทางการควรให้คำแนะนำอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ” นายหุ่งกล่าว
พญ.หว่าง ถิ เหยียม ตเวี๊ยต (Hoàng Thị Diễm Tuyết) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่และเด็กตื่อ ยวู๋ (Bệnh viện Từ Dũ) นครโฮจิมินห์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ว่า ปัจจุบันมีคู่สมรสหลายคู่ได้ฝากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วของฝ่ายหญิงไว้ทั้งในโรงพยาบาลแห่งนี้ กับอีกแห่งหนึ่งในโฮจิมินห์เช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ผ่านการตรวจพิสูจน์ว่า ไม่สามารถจะมีบุตรได้ด้วยวิธีผสมเทียมได้ รวมทั้งกรณีหนึ่งเป็นสตรีชาวอเมริกันเวียดนามวัย 40 ปี มีน้องสาวอาศัยอยู่ในเวียดนาม ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ยังต้องรอความชัดเจนทางกฎหมาย
ตามกฎหมายครอบครัวฉบับปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กระบวนการตั้งครรภ์แทนต้องเป็นไปโดยความสมัครใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสตรีที่ทำหน้าที่อุ้มบุญจะได้รับอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต และต้องได้รับการยินยอมจากสามีหากสมรสแล้ว นอกจากนั้น ยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของการทำเด็กหลอดแก้ว คู่สามีภรรยาที่มีบุตรยากดังกล่าวจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และการดูแลเด็กเองทั้งหมด
เวียดนาม เชื่อว่า การตั้งครรภ์แทนไม่เพียงแต่เป็นการแก้ปัญหาทางครอบครัวเท่านั้น หากยังช่วยแก้ปัญหาทางสังคม และศีลธรรมอีกด้วย ก่อนหน้านี้ มีผู้หญิงยากจนทั้งในฮานอย โฮจิมินห์ และ จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รับตั้งครรภ์แทนในรูปการให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมอันดี และรัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทารก หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในวันข้างหน้า.