ยธ.เตรียมยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับแรก ระบุแบ่ง 3 กลุ่มผู้กระทำผิด เน้นมาตรการพิเศษจัดการนักค้ารายใหญ่ตัวจริง ดึงผู้ค้า-เสพรายย่อยเข้าระบบบำบัดแทนจำคุก
วันนี้ (13 พ.ค.) นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพยาติดขึ้นมาใหม่ 1 ฉบับ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยกฎหมายยาเสพติดที่ผ่านมานั้นมีการกำหนดความผิดและบทลงโทษที่มุ่งเน้นต่อการปราบปรามเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีการกำหนดโทษที่เด็ดขาดและรุนแรง ทั้งนี้ คดีที่เข้าสู่ระบบการพิจารณาของศาลมีจำนวนมาก ประกอบกับบทลงโทษค่อนข้างแข็ง อีกทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ศาลได้มีโอกาสในการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่เหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิด
นายชาญเชาวน์กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ทำให้ผู้กระทำความผิดบางรายต้องได้รับโทษที่รุนแรง ส่งผลให้มีนักโทษคดียาเสพติดเข้าสู่เรือนจำเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นแหล่งรวมของนักค้ายาเสพติดและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการกระทำความผิดมากขึ้น มีการสั่งการการซื้อยาเสพติดจากผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาพฤตินัยใส่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งนี้ กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่เชื่อมโยงของระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
อย่างไรก็ตาม สำหรับประมวลกฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดการออกกฎหมายใหม่ และตัวกฎหมายจะมีหลักเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มของผู้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นเหยื่อ พวกผู้เสพรายย่อยทั่วไปที่อาจจะถูกชักจูงล่อลวงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมาตรการที่จะใช้กับกลุ่มคนเหล่านี้จะเน้นการบำบัดรักษา และมาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก นอกจากนี้ จะมีการดึงภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้มากขึ้น
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มแรงงาน หรือผู้รับจ้างขนยาเสพติด อาจจะเป็นรายย่อย หรือบางส่วนก็เป็นผู้เสพก่อนมาเป็นแรงงานขนยาเสพติด มาตรการที่จะใช้กับคนกลุ่มนี้ คือ การบำบัดรักษาส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำหน้าที่เป็นผู้จำหน่าย ผู้ลำเลียงยาเสพติด จึงต้องมีการใช้มาตรการทางอาญาต่อบุคคลกลุ่มนี้แม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการค้ายาเสพติดแต่ก็เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับนักค้ารายใหญ่ โดยกลุ่มนี้จะมีมาตรการสำคัญเน้นไปที่การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อขยายผลไปยังกลุ่มนักค้ารายใหญ่
และกลุ่มสำคัญที่เป็นเป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ กลุ่มที่ 3 กลุ่มซึ่งเป็น นักค้ารายใหญ่หรือนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง เป็นกลุ่มคนที่กฎหมายฉบับนี้จะมุ่งนำตัวมาลงโทษทางอาญาอย่างเด็ดขาดและรุนแรง โดยจะนำมาจากการการสืบสวนพิเศษเข้ามาบังคับใช้อย่างเข้มข้น ทั้งการอำพรางตัวสะกดรอยการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การสืบสวนทางการเงินเพื่อทลายเครือข่ายการใช้ช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมทั้งมาตรการการยึดอายัดทรัพย์
“กฎหมายฉบับใหม่จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติด้วย เพื่อกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ ส่วนการปราบปรามจะเน้นบริเวณโดยรอบประเทศ ป้องกันสกัดกั้นการเข้ามา แนวทางดังกล่าว พล.อ.ไพบูลย์ ก็ดำเนินดารอย่างจริงจัง เช่น มาตรการกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง โดยการจับกุมของเจ้าหน้าที่จะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นว่าบุคคลที่จำเป็นกลุ่มใด นักค้ารายย่อย หรือผู้เสพ หรือผู้ค้ารายใหญ่ ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเสนอให้ทันสมัยสภานิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าว