xs
xsm
sm
md
lg

คอหวยจับตางวด 16 มิ.ย. ก.คลังจะบังคับขายใบละ 80 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการ(กมธ.) สังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับ กมธ.กิจการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “แก้กฎหมายสลาก : โอกาสและความท้าท้ายสู่การปฏิรูปสลากเพื่อสังคม”
“กระทรวงการคลัง” ประกาศพร้อมจัดสรรสลากฯ ใหม่ คาดงวด 16 มิ.ย. บังคับขายใบละ 80 บาทได้ “วิสุทธิ์” ขู่ยึดโควตายี่ปั๊ว-ซาปั๊วหากรับสลากฯ ไป แต่ไม่ขายเอง ด้านวิปรัฐบาลให้ ก.คลัง-กฤษฎีกาปรับร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ก่อนชง ครม.-สนช.โดยเร็ว

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับ กมธ.กิจการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “แก้กฎหมายสลาก : โอกาสและความท้าท้ายสู่การปฏิรูปสลากเพื่อสังคม”

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ที่กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาว่า รัฐบาลพยายามแสวงหาแนวทางมาตลอด แต่ที่ผ่านมามีปัญหาติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะมีการแก้ไขสัดส่วนต่างๆ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วส่งร่างกลับมายัง ครม.แล้ว ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้ราคาสลากฯ เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ส่วนข้อกังวลเรื่องการตั้งกองทุนที่อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์แอบแฝงนั้น เราจะกำหนดเพดานไว้ โดยเงินส่วนที่เกินจากเพดานจะถูกส่งคืนคลัง อีกทั้งจะปรับสัดส่วนผู้จำหน่ายให้เหมาะสม จึงขอร้องผู้ที่รับสลากฯ ให้นำไปจำหน่ายเอง อย่าไปจัดสรรให้คนอื่น มิฉะนั้นปัญหาจะกลับมาอีกแล้วจะต้องมีเรียกคืนโควต้าต่อไป

“รัฐต้องเริ่มจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลใหม่ โดยให้มีหน่วยงานเข้ามาบริหารจัดการ เรื่องการกำหนดราคา การจำหน่าย และควบคุมดูแลการจำหน่ายให้ราคาเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งต้องแก้ไขให้มีการจัดสรรสลากในแต่ละกลุ่มอย่างเท่าเทียม ต้องไม่มีการปรับลดการให้โควตาในส่วนของกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ รายได้ระหว่างมูลนิธิกับองค์กรที่ยังไม่สมดุลกันนั้น บอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปกำหนดนโยบายที่ชัดเจนได้ ทำได้เพียงให้นโยบายแบบกว้างๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำวันที่ 16 มิถุนายนนี้จะสามารถจำหน่ายได้ในราคา 80 บาทอย่างแน่นอน”

รมช.คลัง กล่าวว่า สำนักงานสลากฯ ถือเป็นกิจการสนองความต้องการความเสี่ยงทาย ความเชื่อ ความหวัง เพื่อตรงตามเป้าประสงค์ของคน โดยยอมรับว่าปัญหาการจำหน่ายสลากฯ เกินราคามีมานานแล้ว และที่ผ่านมามีราคาจำหน่ายใบละ 100 บาทขึ้นไป แต่หากคิดส่วนต่างใบละ 20 บาท กว่างวดละ 37 ล้านใบ จะมีอยู่ทั้งสิ้นงวดละ 740 ล้านบาท เมื่อนำมาคิดต่อ 1 เดือน ที่มี 2 งวด จะทำให้เกิดส่วนต่างต่อเดือนกว่า 1,480 ล้านบาท หากคิดเป็นสัดส่วนทั้งปีจะอยู่ที่ปีละ 18,000 ล้านบาท ที่หายไปจากการกินหัวคิวเป็นทอด ๆ ของสลากฯ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากหลายกรณี เช่น ไม่สามารถรับซื้อเลขไม่สวยคืน ทำให้ผู้ค้าฯ ต้องขึ้นราคา เพื่อแบกรับความเสี่ยงไว้”

ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 จะตั้งหน่วยงานมากำหนดราคาในการจำหน่ายและควบคุมดูแล และแก้ไขให้จัดสรรสลากในแต่ละกลุ่มให้มีความเท่าเทียม โดยต้องไม่ปรับลดการให้โควตาในส่วนของกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส แต่หากนำไปขายต่อจะโดนตัดโควตาทันที ซึ่งรายได้ระหว่างรายได้ของมูลนิธิกับองค์กรที่ยังไม่สมดุลกันนั้น คณะกรรมการสลากฯ ได้เพียงให้แนวนโยบายกว้าง ๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ใหม่ได้กำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม การขายสลากฯ ให้กับเด็ก เยาวชน จากเดิมที่มีโทษปรับ 2,000 บาท ปรับเป็นจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ เงินกองทุนทั้งการรับซื้อคืนและการช่วยเหลือทางสังคม เพื่อไม่ให้นักการเมืองนำไปใช้ประโยชน์อื่น จึงต้องกำหนดเพดานเงินกองทุน และ ให้อำนาจรมว.คลังพิจารณานำส่งเข้าคลังในสัดส่วนที่เหมาะสม คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่จะบังคับใช้ได้ในปี 58 นี้

ด้านนายมณเฑียร บุญตัน รองประธาน กมธ.การสังคมฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้จะต้องปรับโครงสร้างสำนักงานสลากฯ ด้วยการแยกอำนาจการกำกับนโยบาย ออกจากกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าโควตาการรับสลากร้อยละ 70 เป็นการดำเนินธุรกิจโดยนักลงทุนขาใหญ่ที่เข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหากำไร ขณะที่ผู้ค้ารายเล็กๆต้องเข้าหานักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้ ตนจึงเห็นว่าถ้ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้พิการ เหตุใดจึงไม่จัดสรรโควตาให้กลุ่มคนเหล่านี้ในสัดส่วนที่เพียงพอ

“ประเด็นสำคัญที่เรามีความกังวลในขณะนี้ คือ ความสามารถในการรวบรวมสลาก ซึ่งถ้ามีการกำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพ เราก็จะสามารถควบคุมราคาให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ แต่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่ได้โควตาน้อยมีการไปรวมผู้ค้ารายใหญ่เพื่อมารับสลากแล้วนำไปขายต่อ ต่อจากนี้เราจะมีการไปพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อได้โควตาในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยรูปแบบจะเริ่มที่การพูดคุยก่อน และจะใช้ยาแรงไปตามลำดับ”

นายวิสุทธิ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เรื่องสำคัญที่เรากังวลตอนนี้ คือ ความสามารถในการรวบรวมสลาก เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่ได้โควตาน้อยไปรวมกับผู้ค้ารายใหญ่เพื่อมารับสลากแล้วนำไปขายต่อ ดังนั้น เราจะไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้โควตาสลากเพื่อให้ได้โควตาในสัดส่วนที่เหมาะสม ก่อนที่จะใช้ยาแรงต่อไป ขณะที่คณะกรรมสลากฯ จะต้องเร่งประชุมกำหนดแนวทางให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ คาดว่าในงวดวันที่ 16 มิ.ย.นี้จะสามารถจำหน่ายสลากได้ในราคาฉบับละ 80 บาท

ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว แต่เนื่องจากหัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลาก

“ที่ประชุมวิปรัฐบาลจึงมีมติให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวร่วมกันเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไป”

วันเดียวกัน เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชน 10 จังหวัด ได้แก่ จ.สิงห์บุรี ชลบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ เพชรบรูณ์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สงขลา ตรัง และกรุงเทพฯ กว่า 20 คน นำโดย นายประสาร ประดิษฐ์โสภณ ผู้ประสานงาน ได้ยื่นหนังสือต่อนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การสังคม กิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สนช. เพื่อให้รัฐบาลและ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ไปปรับปรุงให้สมบูรณ์ เพราะขาดการมีส่วนร่วมของหลากหลายภาคส่วน ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 11/2558



กำลังโหลดความคิดเห็น