ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปลากระโห้ยักษ์ 2 ตัว น้ำหนักรวมกันกว่า 250 กิโลกรัม ที่ถูกจับไปจากลาว ได้ไปปรากฏตัวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในนครโฮจิมินห์สัปดาห์นี้ ท่ามกลางความสงสารของผู้คนที่ได้รับรู้เรื่องนี้ในโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ลงความเห็นกันว่า ปลาตัวโต และนับวันหาพบได้ยากพันธุ์นี้ไม่ควรจะลงเอยแบบนี้ ควรจะมีชีวิตอยู่เพื่อแพร่พันธุ์ในลำน้ำธรรมชาติต่อไป
กระโห้ทั้ง 2 ตัว น้ำหนัก 130 กับ 122 กก. ถูกจับไปจากแหล่งน้ำในดินแดนลาวที่ไม่ได้ระบุตำแหน่งแน่นอน และไม่มีรายละเอียดอีกเช่นกันว่า นำไปยังนครใหญ่ทางภาคใต้ของเวียดนามด้วยวิธีใด และเมื่อไร รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยราคาค่างวดของปลาขนาดใหญ่ทั้ง 2 ตัว แต่ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เขียนลงในเว็บไซต์ข่าว Congan.com.vn ว่า ราคาค่างวดของกระโห้ยักษ์ทั้ง 2 ตัวในภาพ น่าจะไม่ต่ำกว่า 4 ล้านด่ง (ราว 6,100 บาท)
ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาพันธุ์นี้คือ Catlocarpio siamensis หรือ Siamese giant carp (ปลาเกล็ดยักษ์สายพันธุ์สยาม) เป็นปลาน้ำจืดท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่น้ำแม่กลอง ลำน้ำสาขา ลำน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยงานอนุรักษ์สัตว์น้ำกล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการล่าที่ไม่มีขอบเขตจำกัด
กระโห้ เป็นปลาเนื้อแน่นรสอร่อย ได้รับความนิยมมาก จึงทำให้ตลาดต้องการมาก เคยมีชุกชุมในลุ่มน้ำหลายสายของไทย แต่ในปัจจุบันหาพบยากขึ้น และพบเฉพาะตัวเล็กลงน้ำหนักราว 10 กก.เศษๆ เท่านั้น จนหลายคนเชื่อว่า กระโห้ยักษ์นั้นใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว
ในเวียดนามเองได้เคยมีชาวประมงจับปลากระโห้ยักษ์ได้หลายตัวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2557 นายเหวียนมีงยุ๋ง (Nguyen Minh Dung) วัย 36 ปี จับได้ตัวหนึ่ง น้ำหนัก 130 กก. นำขึ้นจากแม่น้ำโด่งนาย ในเขตอำเภอที่ 9 นครโฮจิมินห์ ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.ปีที่แล้วเช่นกัน ชาวประมง 2 พ่อลูก ก็จับได้อีกตัวน้ำหนัก 130 กก.เช่นกัน นำขึ้นจากลำน้ำเก่อเจียน (Co Chien) ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขง ใน จ.โด่งท้าป (Dong Thap)
ใกล้เข้ามาคือ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2558 ชาวประมงในคอมมูนฟองหว่า (Phong Hoa) อ.ลายวุง (Lai Vung) จ.โด่งทาป ก็จับได้อีกตัวในลำน้ำเหิ่ว (Hau) ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ตัวล่าสุดนี้ชั่งน้ำหนักได้ 110 กก.
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปลากระโห้ยักษ์เคยมีชุกชุมในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงภาคใต้เวียดนาม รวมทั้งตามลำแม่น้ำโขงทั้งในกัมพูชา และลาว แต่ปัจจุบันหาพบได้ยาก นักอนุรักษ์กล่าวว่า การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง ทั้งในกัมพูชา และในลาว ได้ปิดกั้นโอกาสที่จะได้แพร่พันธุ์อย่างกว้างขวาง และอาจจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกันกับปลาบึก และปลาอีกหลายชนิดในลำน้ำนานาชาติสายยาวนี้.
.