ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สงครามเวียดนามผ่านไป 40 ปีที่แล้ว แต่ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนนับล้านยังคงทนทุกข์อยู่กับสิ่งที่เกิดในอดีต และยังไม่สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบต่อผู้เคราะห์ร้ายได้ การต่อสู้ทางศาลล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่อาจจะเอาผิดใดๆ ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ และบรรดาผู้เกี่ยวข้องลอยนวล ไม่ได้มีแต่ชาวเวียดนามเท่านั้น ผู้ที่ล้มป่วย หรือทุพพลภาพโดยเชื่อว่า มีสาเหตุจากการได้รับหรือสัมผัสกับสารไดออกซิน จาก “ฝนเหลือง” ที่สหรัฐฯ นำไปโปรยลงในเขตป่า ลำน้ำลำธาร รวมทั้งเทือกไร่นาสวนของชาวบ้านเมื่อครั้งสงคราม หากยังรวมทั้งทหารผ่านศึกอเมริกันจำนวนมากด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนนับพันคนที่ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการเยียวยาบำบัด
มีการศึกษา และมีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับการโปรยสารกำจัดใบไม้ ในช่วงสงครามเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างช่วงปี 2505-2514 สารชนิดนี้เรียกกันทั่วไปว่า Agent Orange หรือ “สารสีส้ม” เป็นการเรียกตามป้ายชื่อที่ติดอยู่ข้างถังบรรจุขนาด 200 ลิตร ซึ่งเป็นแถบสีส้ม เป็นส่วนประกอบในปริมาณเท่าๆ กันของสารพิษ 2 ชนิด ที่ผลิตจากเคมีภัณฑ์ การศึกษาวิจัยกับการทดลองหลังสงครามสิ้นสุดลง โดยผู้เชี่ยวชาญกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐฯ ได้พบว่าเป็นสารที่มีพิษภัยต่อมนุษย์อย่างร้ายแรง สามารถทำให้คนล้มป่วยมากมายหลายอาการ รวมทั้งมะเร็งในเม็ดเลือด สารพิษดังกล่าวยังสามารถส่งผลต่อคนรุ่นลูกหลานของผู้ที่ได้รับ หรือได้สัมผัสอีกด้วย
ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเกี่ยวกับปริมาณของ “เอเยนต์ ออเรนจ์” ที่โปรยลงในเวียดนาม เนื่องจากมีการนำไปใช้โดยไม่มีการบันทึกเป็นจำนวนมาก แต่ตัวเลขของกองทัพสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในระยะหลังๆ พบว่า มีการนำขึ้นเครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยในเขตป่าเวียดนาม ทั้งในเขตป่าไม้เบญจพรรณสมบูรณ์ และป่าโกงกางชายทะเล และตามชายฝั่งแม่น้ำโขงในภาคใต้ รวมอย่างน้อย 19 ล้านแกลลอน ใช้มากที่สุดในช่วงปี 2510-2511 จนกระทั่งปี 2514 ภายหลังการเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีส จึงได้เลิกใช้ หากคิดเป็นเที่ยวบินก็มีการนำสารกำจัดใบไม้มีพิษชนิดนี้ไปโปรยรวม จำนวน 20,000 เที่ยว รวมเป็นพื้นที่ราว 20,000 ตารางกิโลเมตร มีป่าไม้ถูกทำลาย ใบร่วงจนโกร๋น จำนวน 12,500,000 ล้านไร่ ทำลายพืชผลต่างๆ ของราษฎรอีก 1,250,000 ไร่
ยังมีการนำสารพิษชนิดนี้ไปโปรยในพื้นที่ต่างๆ โดยทหารราบ ซึ่งใช้ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะบรรทุกอีกจำนวนมากมายหลายเที่ยว ซึ่งยังไม่มีใคร หรือหน่วยใดสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ครบถ้วนทั้งหมด แม้กระทั่งการโปรยจากเฮลิคอปเตอร์ ก็ไม่มีการบันทึกเป็นจำนวนมาก
การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนาม และด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานสิ่งแวดล้อมรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะหลังๆ รวมทั้งการศึกษาโดยหน่วยงานอิสระ และโดยองค์การระหว่างประเทศ ได้พบว่า ในเวียดนามปัจจุบันยังมีสารไดออกซินตกค้างอยู่ในหลายพื้นที่ ทั้งในดิน ในลำน้ำลำธาร ลำห้วย รวมทั้งในผืนนาการศึกษาได้พบว่า สนามบินอย่างน้อย 6 แห่งที่เคยเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในช่วงสงคราม และใช้เป็นแหล่งจัดเก็บ หรือเป็นแหล่งแจกจ่ายสารพิษ ยังคงมีสารตกค้างมากมายจนเกินเลยขีดอันตรายปกติ
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐสภารวมทั้งสิ้น 32 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือคอมมิวนิสต์เวียดนาม จัดเก็บทำลาย หรือ “กักบริเวณ” สารพิษในพื้นที่ 3 แห่ง คือ สนามบินนครด่าหนัง สนามบินเบียนหว่า (จ.โด่งนาย) และ สนามบินฝูก๊าต (Phu Cat) เมืองกวีเญิน (Qui Nhon) จ.บี่งดิง (Binh Dinh) จนกระทั่งปี 2554 จึงสามารถดำเนินการที่ด่าหนังได้สำเร็จเป็นแห่งแรก
ยังไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานใดทราบแน่ชัดอีกเช่นกันว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากสารพิษใน Agent Orange จำนวนทั้งหมดเท่าไรในเวียดนาม รวมทั้งในสหรัฐฯ แต่การศึกษาโดยทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก ประมาณการว่า เมื่อครั้งที่สหรัฐฯ นำไปโปรยนั้น ตามรายทางที่โปรยลงไปมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ราว 4.8 ล้านคน และมีทหารกองทัพรัฐบาลเวียดนามใต้ในอดีต เวียดกง และทหารเวียดนามเหนืออีกราว 1 ล้านคน ได้รับสารพิษโดยตรง ในขณะที่สภากาชาดแห่งชาติเวียดนาม ให้ตัวเลขว่า ปัจจุบันมีชาวเวียดนามราว 3 ล้าน ที่ได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ ในนั้นยังรวมทั้งเด็กๆ อีกราว 150,000 คน ที่เกิดมาพิกลพิการ โดยเชื่อว่าเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการได้รับสารไดออกซินจากรุ่นพ่อ และหรือรุ่นปู่ตั้งแต่ครั้งสงคราม
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปัดปฏิเสธตัวเลขเหล่านี้ โดยระบุว่า “ห่างไกลจากความจริง” ทั้งยังปฏิเสธที่จะให้การเยียวยาแก่บุคคลเหล่านี้ โดยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สามารถชี้ชัดได้ว่า สารไดออกซินใน “ฝนเหลือง” นั้นมีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อการล้มป่วย และการเกิดมาอย่างผิดปกติของทารกกว่าแสนคนในเวียดนาม
ส่วนในสหรัฐฯ นั้น กระทรวงกิจการทหารผ่านศึก ให้ตัวเลขประมาณการว่า ทหารอเมริกัน จำนวน 2.8 ล้านคน ที่เคยไปปฏิบัติการ หรือ “ได้เหยียบพื้นดิน” เวียดนาม ระหว่างปี 2505-2518 ล้วนมีโอกาสได้สัมผัสกับสารที่ใช้ในการกำจัดใบไม้ กระทรวงฯ ได้ระบุอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการได้รับผลกระทบเอาไว้จำนวนหนึ่ง และถ้าหากทหารผ่านศึกคนใดมีอาการต่างๆ เหล่านั้นก็จะสามารถขอรับการรักษาพยาบาลเป็นสวัสดิการจากรัฐได้ ซึ่งจำนวนผู้ที่เข้าขอรับการช่วยเหลือมีเพิ่มขึ้นทุกปี
.
2
3
แต่ปัญหาไม่ได้ยุติลงเท่านั้น ทหารผ่านศึกจำนวนมากหวาดวิตกว่า ผลกระทบจะตกทอดไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดซึ่งก็คือ ทหารอากาศที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการโปรยสารพิษ คนเหล่านั้นมีจำนวนระหว่าง 1,500-2,100 คน เคยปฏิบัติการบนเครื่องบินแบบ ซี-123 ที่ใช้เป็นพาหนะ ทุกคนได้สัมผัส “ฝนเหลือง” โดยตรง
หลายปีมานี้ก็จึงมีความพยายามฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากผู้เกี่ยวข้องมาหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ
การเปิดคดีความเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยทหารผ่านศึกรวมกลุ่มกันเป็นโจทก์เอง กล่าวหารัฐบาล กับบริษัทผู้ผลิตว่า การใช้สารเคมีเอเยนต์ ออเรนจ์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญานครเจนีวา ที่เกี่ยวกับการห้ามใช้อาวุธเคมี แต่ศาลวินิจฉัยว่า สารไดอ็อกซินในเอเยนต์ ออเรนจ์ มิใช่สารเคมีที่ใช้ใน “สงครามเคมี” เป็นเพียงยาฆ่าศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และสารดังกล่าวไม่เข้าข่ายการเป็นอาวุธชนิดใดๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้เพื่อการทำลายล้าง สังหาร หรือเอาชีวิตฝ่ายปรปักษ์ ฯลฯ
เมื่อไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดต่อรัฐบาลที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายในสภาวะสงครามได้ ทหารผ่านศึกจากเวียดนาม จึงได้เพียรพยายามมาหลายครั้งในการฟ้องร้องเอาผิดบริษัทผู้ผลิตจำนวนกว่าสิบแห่ง ที่นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่สองแห่งคือ มอนซานโต (Monsanto) กับ ดาวเคมิคัล (Dow Chemical)
การยื่นฟ้องเมื่อปี 2547 โดยสมาคมเหยื่อสารเอเยนต์ ออเรนจ์/ไดอ็อกซิน (Vietnam Association for Victims of Agent Orange/dioxin - VAVA) ซึ่งเป็นกลุ่มพิทักษ์สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบนั้น นับเป็นขีดหมายสำคัญของความพยายามดังกล่าวแม้จะไม่สำเร็จอีกก็ตาม
สมาคมฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงบรู๊กลีน นครนิวยอร์ก เรียกร้องค่าเสียหายให้บรรดาเหยื่อ โดยกล่าวหาบริษัทผู้ผลิตสารพิษ ว่า เป็นผู้ทำให้เกิดมีสารดังกล่าว และมีการนำไปใช้โดยผิดต่อข้อตกลงกรุงเฮกปี ค.ศ.1907 ที่ว่าด้วยสงครามบนบก และพิธีสารนครเจนีวาปี ค.ศ.1925 กับข้อตกลงเจนีวา ค.ศ.1949 มอนซานโต กับดาวเคมิคัล ซึ่งเป็นผู้ผลิตให้แก่กองทัพสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด ถูกระบุชื่อเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 พร้อมกับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตรายย่อยอีกกว่า 10 แห่ง เป็นจำเลยตามกันเป็นลำดับ
ต่อมา ในเดือน มี.ค.2548 ผู้พิพากษาคนเดียวกันกับที่เคยพิจารณาคดีเมื่อปี 2527 ได้ออกอ่านคำวินิจฉัยยกคำฟ้องคดีนี้ โดยระบุเช่นเดิมว่า เมื่อครั้งที่นำไปใช้ในสงครามเวียดนามนั้น สารไดออกซิน ใน Agent Orange ยังไม่เข้าข่ายเป็นสารพิษตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็มิใช่ประเทศแรกที่นำไปใช้ ก่อนหน้านั้น กองทัพอังกฤษ ที่ทำสงครามต่อต้านกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ได้เคยนำไปโปรยในมาเลเซียมาก่อน นอกจากนั้น ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ นำไปใช้ โดยได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายการทำสงคราม บริษัทผู้ผลิตเอเยนต์ ออเรนจ์ให้แก่รัฐบาล ก็ได้รับการคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องด้วย
การต่อสู้เรื่องนี้ยังไม่ยุติ ถึงแม้ว่าในบางกรณีกลุ่มมอนซานโต กับดาวฯ จะได้ประนีประนอมนอกศาล ยอมจ่ายชดเชยให้แก่เหยื่อบางกลุ่ม แต่ก็มิใช่การยอมรับผิด หากเป็นการจ่ายเพื่อแลกต่อการทำข้อตกลงที่อีกฝ่ายจะไม่ดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ต่อบริษัทด้วยเรื่องนี้อีกต่อไป
ปี 2550 ได้มีความพยายามอุทธรณ์คดีครั้งเมื่อปี 2547 แต่ในปี 2552 ศาลอุทธรณ์ในนิวยอร์ก ได้ยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งทำให้คดีฝนเหลืองมีอันตกไปจากระบบศาลในสหรัฐฯ นอกเสียจากจะสามารถหาคำฟ้องอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ประชามติในสหรัฐฯ เองต่างๆ ต้องการที่จะเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การเยียวยา “ผู้ต้องสงสัย” จะได้รับผลกระทบ ทั้งทหารผ่านศึกอเมริกันเอง รวมทั้งเหยื่อในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบัน “เหยื่อฝนเหลือง” ในเวียดนาม ได้รับการช่วยบรรเทาความยากลำบาก จากองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานของต่างชาติ รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งด้วย
แต่ผลลัพธ์หลายอย่างไม่อาจบรรเทา หรือแก้ไขได้ รวมทั้งไม่สามารถเยียวยาได้
ภาพถ่ายทั้ง 24 ภาพต่อไปนี้ เป็นผลงานของ Damir Sagolj ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ภาพทั้งหมดถ่ายในช่วงเดือน เม.ย.นี้ จากหลายแหล่งที่เคยเป็นดินแดนประเทศเวียดนามใต้ ในช่วงสงคราม นับเป็นข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับเหยื่อฝนเหลืองในเวียดนามโดยเฉพาะ และกล่าวได้ว่า เป็นภาพชุดที่สมบูรณ์ หลากหลายที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว.
บาปนี้ใครก่อ? Reuters
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28