xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทการเกษตรรายยักษ์ของตะวันตกเร่ง ‘เขมือบ’ ยูเครน

เผยแพร่:   โดย: เฟรเดอริก มุสโซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

West's agri-giants snap up Ukraine
By Frederic Mousseau
28/01/2015

ยูเครนมีที่ดินเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก เท่ากับประมาณหนึ่งในสามของที่ดินเช่นนี้ในทั่วทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ทีเดียว ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันล่าสุดระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก ก็คือแผนกโลบายที่จะเข้าควบคุมระบบทางการเกษตรของยูเครนให้ได้นั่นเอง โดยที่เวลานี้พวกบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายยักษ์ใหญ่ของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น มอนซานโต, คาร์กิลล์, หรือ ดูปองต์, ต่างกำลังนำขบวนเคลื่อนไหวเข้าควบคุมสายโซ่อุปทานทางการเกษตรของยูเครนเอาไว้ในทุกๆ ภาคส่วน

โอคแลนด์, สหรัฐอเมริกา - ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ, แคนาดา, และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างประกาศมาตรการใหม่ๆ ในการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยูเครนก็ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ความช่วยเหลือก้อนนี้เป็นการเสริมเติมต่อยอดจากแพกเกจความช่วยเหลือจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งผ่านการรับรองเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อเดือนมีนาคม 2014

การที่เหล่ารัฐบาลของโลกตะวันตก เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับการสู้รบขัดแย้งกันในยูเครนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความพอใจและมั่นใจในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม 2014 รัฐบาลใหม่ชุดนี้ต้องถือว่ามีลักษณะโดดเด่นน่าจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากตำแหน่งรัฐมนตรีนั่งกระทรวงสำคัญที่สุด 3 กระทรวง ถูกจัดสรรให้แก่บุคคลที่ถือกำเนิดในต่างแดนและเพิ่งได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองยูเครน เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่พวกเขาจะได้รับการแต่งตั้ง

ทั้งนี้กระทรวงการคลังตกเป็นของ นาตาลี จาเรสโค (Natalie Jaresko) นักธุรกิจหญิงที่เกิดและได้รับการศึกษาในสหรัฐฯ เธอเข้าไปทำงานอยู่ในยูเครนตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 โดยทำหน้าที่กำกับดูแลกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในหุ้น ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อทำการลงทุนในยูเครน นอกจากนั้น จาเรสโค ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ ฮอไรซอน แคปิตอล (Horizon Capital) บริษัทด้านการลงทุนซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการการลงทุนเป็นจำนวนมากของโลกตะวันตกในประเทศนี้

การแต่งตั้งเช่นนี้ดูออกจะไม่ชอบมาพากล และสอดคล้องเป็นไปในทิศทางที่ระบุกันว่า กลุ่มผลประโยชน์ของโลกตะวันตกกำลังตั้งท่าเข้าไปเทคโอเวอร์เศรษฐกิจของยูเครน สถาบันโอคแลนด์ (Oakland Institute) ได้จัดทำรายงานออกมา 2 ฉบับ ได้แก่เรื่อง “The Corporate Takeover of Ukrainian Agriculture” (ภาคบริษัทเข้าเทคโอเวอร์การเกษตรของยูเครน) และเรื่อง “Walking on the West Side: The World Bank and the IMF in the Ukraine Conflict” (เดินไปในฝั่งตะวันตก: ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟในความขัดแย้งยูเครน) ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลของการเทคโอเวอร์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในช่วงต้นๆ ของวิกฤตการณ์ยูเครนคราวนี้ ซึ่งนำไปสู่การประท้วงนองเลือดต่อเนื่องและลงท้ายประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ได้แก่การที่ ยานูโควิช ปฏิเสธไม่ยอมรับ ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองกับสหภาพยุโรป (European Union Association agreement) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายการค้าระหว่างกัน และบูรณาการยูเครนเข้ากับอียู โดยที่ข้อตกลงฉบับนี้ยังถูกผูกเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งสำหรับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะปล่อยเงินกู้จำนวน 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่ยูเครนอีกด้วย

หลังจากประธานาธิบดียานูโควิชถูกขับออกจากเก้าอี้ โดยมีรัฐบาลโปรตะวันตกขึ้นมาแทนที่ ไอเอ็มเอฟได้ริเริ่มจัดทำแผนการปฏิรูปซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพูนการลงทุนของภาคเอกชนในยูเครน และมันก็กลายเป็นเงื่อนไขอีกส่วนหนึ่งสำหรับการอนุมัติปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศนี้

แผนการปฏิรูปนี้ประกอบด้วยมาตรการหลายหลาก เป็นต้นว่า การปฏิรูปกิจการของรัฐซึ่งทำหน้าที่จัดหาน้ำสะอาดและจัดหาพลังงาน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีก ได้แก่ความพยายามในการจัดการกับสิ่งที่ธนาคารโลกระบุว่า เป็น “รากเหง้าเชิงโครงสร้าง” ของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดำเนินธุรกิจในประเทศนี้

ภาคการเกษตรของยูเครนถูกจับจ้องตาเป็นมันในฐานะที่เป็นเป้าหมายใหญ่ลำดับต้นๆ ของพวกนักลงทุนภาคเอกชนต่างชาติ และด้วยเหตุนี้จึงถูกมองจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกว่าเป็นภาคที่ควรทำการปฏิรูปเป็นลำดับแรกๆ สถาบันทั้งสองแห่งนี้ต่างยกย่องชมเชยรัฐบาลใหม่ของยูเครนซึ่งแสดงความพรักพร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของพวกเขา

แผนแม่บทเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตรซึ่งต่างชาติพยายามผลักดันนี้ ประกอบด้วยมาตรการอย่างเช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่การเข้าถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร, การตัดลดระเบียบกฎหมายและการบังคับควบคุมในเรื่องอาหารและพืชพรรณ, การลดภาษีนิติบุคคลและภาษีศุลกากร

ภาคการเกษตรอันใหญ่โตกว้างขวางของยูเครน คือเดิมพันมูลค่าสูงลิ่วซึ่งน่าไขว่คว้าเอาไว้เป็นที่สุด โดยที่ในปัจจุบันก็มีฐานะเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกอยู่แล้ว ท้องทุ่งอันกว้างขวางของประเทศนี้ขึ้นชื่อว่ามีดินดำที่อุดมสมบูรณ์ คิดคำนวณแล้วยูเครนสามารถคุยอวดได้ว่ามีที่ดินชั้นดีเหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่า 32 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 200 ล้านไร่) หรือเท่ากับหนึ่งในสามของที่ดินแบบนี้ในตลอดทั่วทั้งอียูทีเดียว

ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดตั้งแต่ปีที่แล้ว และกลายเป็นเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกครั้งใหญ่โตที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็นยุติลง ก็คือแผนกโลบายที่จะเข้าควบคุมระบบทางการเกษตรของยูเครนให้ได้นั่นเอง

พวกบริษัทต่างชาติรายใหญ่ๆ กำลังพากันบุกเจาะเข้าสู่ภาคการเกษตรของยูเครนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่มากกว่า 1.6 ล้านเฮกตาร์ (ราว 10 ล้านไร่) แล้วซึ่งมีการลงนามยกให้พวกบริษัทต่างชาติใช้สอยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร ในขณะที่ มอนซานโต (Monsanto), คาร์กิลล์ (Cargill), และ ดูปองต์ (DuPont) เข้าไปดำเนินธุรกิจในยูเครนได้พักใหญ่ๆ แล้ว ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ การลงทุนของพวกเขาในประเทศนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญทีเดียว

คาร์กิลล์นั้นมีธุรกิจในด้านการขายยาฆ่าศัตรูพืช, เมล็ดพันธุ์, และปุ๋ย รวมทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ยังได้ขยายการลงทุนในภาคการเกษตรของตนออกไปอีก โดยครอบคลุมทั้งกิจการไซโลเก็บธัญญาหาร, อาหารสัตว์, ตลอดจนมีหุ้นอยู่ใน ยูคระแลนด์ฟาร์มมิ่ง (UkrLandFarming) ซึ่งธุรกิจภาคการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในประเทศนี้

ในทำนองเดียวกัน มอนซานโตก็ทำธุรกิจในยูเครนมาหลายปีแล้ว ทว่าในช่วง 3 ปีหลังมานี้ จำนวนลูกจ้างพนักงานของบริษัทนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าตัว ในเดือนมีนาคม 2014 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจาก ยานูโควิช ถูกโค่นล้ม บริษัทแห่งนี้ก็ได้ลงทุนเป็นมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์เพื่อก่อสร้างโรงเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งใหม่ขึ้นในยูเครน

ทางด้าน ดูปองต์ ก็ได้ขยายการลงทุนของตน และได้ประกาศในเดือนมิถุนายน 2013 ว่าบริษัทจะเข้าลงทุนสร้างโรงเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งใหม่ขึ้นในประเทศนี้เช่นกัน

พวกบริษัทตะวันตกไม่ได้พอใจอยู่เพียงแค่การเข้าควบคุมธุรกิจการเกษตรบางแขนงและกิจกรรมทางการเกษตรบางอย่างที่ทำกำไรงามเท่านั้น มาถึงตอนนี้พวกเขาได้เริ่มต้นขยายอาณาจักรในลักษณะที่มุ่งบูรณาการภาคการเกษตรในแนวตั้ง ตลอดจนแผ่ขยายเข้าควบคุมภาคโครงสร้างพื้นฐานและกิจการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าการเกษตรเอาไว้ในกำมือ

ตัวอย่างเช่น คาร์กิลล์เวลานี้เป็นเจ้าของโรงเก็บเมล็ดธัญญาหารอย่างน้อย 4 แห่ง และโรงงานแปรรูปเมล็ดดอกทานตะวันเพื่อใช้สำหรับการผลิตน้ำมันเมล็ดทานตะวันอย่างน้อย 2 แห่ง ในเดือนธันวาคม 2013 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน “25%+1หุ้น” ในกิจการขนถ่ายธัญญาหารลงเรือที่เมืองโนโบรอสซืย์สกะ (Novorossiysk) ซึ่งเป็นเมืองท่าริมทะเลดำ โดยที่กิจการแห่งนี้มีศักยภาพขนถ่ายธัญญาหารได้ 3.5 ล้านตันต่อปี

ทุกๆ ภาคส่วนของสายโซ่อุปทานทางการเกษตรของยูเครน ไล่เรียงตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์และอินพุตทางการเกษตรอื่นๆ ไปจนถึงการขนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ออกนอกประเทศนี้ จึงกำลังถูกบริษัทตะวันตกควบคุมเอาไว้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งสถาบันต่างๆ ในยุโรปและทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างส่งเสริมสนับสนุนการขยายตัวเช่นนี้อย่างกระตือรือร้น เริ่มต้นตั้งแต่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลในจังหวะเวลาที่ประธานาธิบดียานูโควิช ถูกมองว่าเป็นพวกโปรผลประโยชน์ของรัสเซีย ต่อจากนั้นการผลักดันยังคงคืบหน้าไปอีกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เป็นต้นมา ด้วยการเสริมส่งสนับสนุนให้รัฐบาลใหม่ของยูเครนใช้ระเบียบวาระการปฏิรูปแบบ “โปรธุรกิจ” ตามถ้อยคำของรัฐมนตรีพาณิชย์ เพนนี พริตซเคอร์ (Penny Pritzker) ของสหรัฐฯ ตอนที่เธอพบปะเจรจากับนายกรัฐมนตรี อาร์เซนืย์ ยัตเซนยุค (Arsenly Yatsenyuk) ของยูเครนในเดือนตุลาคม 2014

สหภาพยุโรปกับสหรัฐฯกำลังทำงานอย่างสอดคล้องประสานกันในการเข้าเทคโอเวอร์ภาคการเกษตรของยูเครน ถึงแม้เวลานี้ยูเครนมีนโยบายไม่อนุญาตให้เพาะปลูกพืชผลที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม (GM หรือ GMO) ทว่าตามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างยูเครนกับอียู ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่การโค่นล้มยานูโควิช มีข้อความ (มาตรา 404) ที่ผูกมัดให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกัน “ในการขยายการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ” ภายในยูเครน

การที่มีมาตรานี้บรรจุเอาไว้ต้องถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้บริโภคชาวยุโรปส่วนใหญ่ต่างรังเกียจไม่ยอมรับพืชผล GM อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรานี้อยู่ มันก็เท่ากับการเปิดช่องให้สามารถนำผลิตผล GM เข้าไปในยุโรปได้ อันเป็นโอกาสที่พวกบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่อย่างเช่น มอนซานโต เสาะแสวงหากันมานาน

การเปิดประตูให้นำเอาพืชผล GM ไปเพาะปลูกในยูเครนได้เช่นนี้ ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของพลเมืองชาวยุโรป และไม่มีความชัดเจนเลยว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นประโยชน์แก่ชาวยูเครน

ในทำนองเดียวกัน มันไม่มีความชัดเจนเลยว่าชาวยูเครนจะได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนของต่างชาติในภาคการเกษตรของพวกเขา ตลอดจนเรื่องที่การลงทุนเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกรท้องถิ่นจำนวน 7 ล้านคน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน

ทันทีที่พวกเขาสามารถละสายตาออกจากสงครามความขัดแย้งในภาคตะวันออกที่ “โปรรัสเซีย” ของประเทศได้ในท้ายที่สุด ชาวยูเครนอาจจะรู้สึกงุนงงข้องใจว่า ประเทศของพวกเขายังเหลือความสามารถอะไรอยู่อีกในการควบคุมผลผลิตด้านอาหารของตน และในการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เกิดผลประโยชน์แก่ชาวยูเครนเอง

ขณะที่สำหรับพลเมืองชาวสหรัฐฯและชาวยุโรป ในที่สุดแล้วพวกเขาจะสามารถหรือไม่หนอที่จะตื่นฟื้นจากความหลับใหลแห่งการโหมประโคมพาดหัวข่าวและถ้อยคำโวหารอันสูงส่งเกี่ยวกับการรุกรานและการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัสเซีย และหันมาตั้งคำถามเอากับรัฐบาลของพวกเขาที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่ในสงครามความขัดแย้งของยูเครน?

เฟรเดอริก มุสโซ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายอยู่ที่สถาบันโอคแลนด์

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา

ทัศนะความคิดเห็นที่แสดงไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้เป็นของผู้เขียน และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวแทนความคิดเห็นของไอพีเอส รวมทั้งไม่ควรที่จะถือว่าเป็นทัศนะความคิดเห็นของ ไอพีเอส
กำลังโหลดความคิดเห็น