รอยเตอร์ - เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาที่สถาบันทหารอันทรงเกียรติของกัมพูชา โดยได้กล่าวขอบคุณโดยตรงต่อแขกที่มาร่วมงาน คือกลุ่มเจ้าหน้าที่จากกองทัพปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติจีน (PLA) ผู้ซึ่งทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
สถาบันกองทัพบก (Army Institute) ตั้งขึ้นในปี 2542 ห่างจากกรุงพนมเปญราว 80 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือทางทหารจากจีนต่อกัมพูชา ซึ่งในการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ รัฐบาลกัมพูชาทำให้ได้เห็นว่าอิทธิพลของโรงเรียนแห่งนี้ได้แผ่กว้างไปไกลเพียงใดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ความช่วยเหลือทางทหาร พร้อมกับการขายอาวุธและการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ได้กระชับความสัมพันธ์ของจีนกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และนักวิเคราะห์มองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่จะขยายอิทธิพลในภูมิภาค รวมทั้งในประเด็นพิพาททะเลจีนใต้
ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ของพล.อ.เตีย บัญ ที่สถาบันกองทัพบก ในจ.กำปงสะปือ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชาผู้นี้ยังแสดงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกหรูหรา -- สิ่งที่หาได้ยากสำหรับกองทัพของกัมพูชา โดยระบุว่ากัมพูชาสำนึกในบุญคุณของจีนสำหรับความเข้าใจในความยากลำบากของกัมพูชา
นับตั้งแต่ปี 2552 มีนักเรียนทหารประมาณ 200 นายต่อปีเข้าเรียนหลักสูตร 4 ปี ภายใต้การออกแบบของกระทรวงกลาโหมจีนและที่ปรึกษาชาวจีนที่ควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ฝึกสอนท้องถิ่น ที่ยังรวมทั้งภาคบังคับ 6 เดือน ที่สถาบันทหารในจีน
และในเดือนมี.ค. ปีนี้ มีนักเรียนทหาร 190 นาย จบการศึกษาเป็นรุ่นที่ 3 จากสถาบันกองทัพบกแห่งนี้
"ผู้ที่จบการศึกษาได้เข้าไปประจำในตำแหน่งที่มีอิทธิพลต่างๆ รวมทั้งผู้บังคับกองพัน พวกเขาอยู่ในหน่วยรบในตำแหน่งต่างๆ ที่พวกเขาสามารถทำการตัดสินใจได้" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าว
สถาบันกองทัพบกยังเปิดรับนักศึกษาประมาณ 200 คน ต่อปี ในหลักสูตรระยะสั้น 6 เดือนอีกด้วย เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่า จีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในการก่อสร้างสถาบันและยังครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินการสถาบัน
เจ้าหน้าที่ที่ทราบข้อมูลสถาบันกองทัพบกยังระบุว่าประมาณครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ฝึกหัดทั้งหมดของกัมพูชาในเวลานี้จบจากสถาบันแห่งนี้
คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของโรงเรียนรวมเหล่าออสเตรเลีย (ADFA) กล่าวว่า สถาบันกองทัพบกถือเป็นความพยายามแรกของจีนที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"สำหรับจีน นี่เป็นการเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการครองอิทธิพลในกองทัพกัมพูชาด้วยการบ่มเพาะคนเหล่านี้ และจีนยังเก็บข้อมูลข่าวกรองระดับลึกมากของทุกคนอีกด้วย ไม่มีที่ใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อิทธิพลของจีนยิ่งใหญ่มากเท่าที่คุณกำลังพูดถึง" คาร์ล เธเยอร์ กล่าว
การเติบโตของสถาบันกองทัพมีขึ้นท่ามกลางการขายอาวุธ และความช่วยเหลือทางทหารของจีนต่อกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจีนยังลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา
ในปี 2556 กัมพูชาได้รับมอบเฮลิคอปเตอร์แบบฮาร์บิน Z-9 จำนวน 12 ลำ จากเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลจีนจำนวน 195 ล้านดอลลาร์ และในปีถัดมา กัมพูชาได้รับบริจาครถบรรทุกจีนจำนวน 26 คัน และชุดเครื่องแบบทหารอีก 30,000 ชุด
การก่อสร้างสถาบันกองทัพบกด้วยทุนจากจีนดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว และนับตั้งแต่อัดฉีดเงินทุนในปี 2555 อาคารมากกว่า 70 หลัง ปรากฎขึ้นบนที่ดินเกือบ 925 ไร่
กระทรวงกลาโหมจีนระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ตอบคำถามของรอยเตอร์ว่า จีนจะยังคงเพิ่มระดับการสนับสนุนต่อสถาบันกองทัพบก เพื่อช่วยกัมพูชายกระดับความสามารถในการสอนและบุคลากรผู้ฝึกอบรม
"ความช่วยเหลือนี้ไม่ผูกพันเงื่อนไขทางการเมือง และจะไม่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของบุคคลที่สาม" คำแถลงของกระทรวงกลาโหมจีน ระบุ
ลาว มง เฮ (Lao Mong Hay) นักวิเคราะห์และที่ปรึกษาให้กับฝ่ายค้านของกัมพูชา ระบุว่า การให้ความช่วยเหลือทางทหารของจีนต่อกัมพูชาที่นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนเมื่อปี 2555 เป็นการขัดขวางความพยายามของบรรดาชาติอาเซียนที่จะสร้างแนวทางปฏิบัติทางทะเลกับปักกิ่ง
"ผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของจีนคือการแบ่งแยกอาเซียน และกัมพูชาถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว" ลาว มง เฮ กล่าว และว่าความช่วยเหลือทางทหารยังถ่วงดุลอิทธิพลของเวียดนาม
เวียดนาม ที่ติดพันในข้อพิพาทกับจีนเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันของปักกิ่งที่เข้ามาตั้งในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ ได้จัดหาการฝึกอบรมให้กับนายทหารและตำรวจกัมพูชามาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี รวมทั้งอุปกรณ์ทางทหาร และการลาดตระเวนร่วมกันของทหารเรือ
นอกจากนั้น ความช่วยเหลือของจีนยังมากกว่าที่ได้รับจากสหรัฐฯ ที่ยกเลิกการส่งมอบพาหนะทางทหารมากกว่า 200 คัน ในปี 2553 หลังกัมพูชาเนรเทศกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไปจีนในปลายปี 2552 และ 2 วันหลังการเนรเทศ จีนและกัมพูชาได้ลงนามข้อตกลงมูลค่าราว 850 ล้านดอลลาร์
ในปี 2556 กัมพูชาประกาศระงับความร่วมมือทางทหารบางอย่างกับสหรัฐฯ หลังถูกสมาชิกสภาของสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งของประเทศ
แม้สหรัฐฯ จะจัดหาทุนทางทหารและการฝึกอบรมในกัมพูชาราว 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2557 ตามการระบุของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และบุคลากรทางทหารของกัมพูชา 12 คน ได้รับการฝึกอบรมในสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการเสริมสร้างความสามารถทางทะเล ขณะเดียวกัน ผู้จบการศึกษาจากสถาบันทหารราบที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนก็กำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับต่างๆ
"พวกเขาต้องการให้เราเห็นว่าจีนนั้นเป็นมหาอำนาจที่ช่วยกัมพูชาในช่วงเวลาวิกฤต" เจ้าหน้าที่ที่จบการศึกษา กล่าว.