xs
xsm
sm
md
lg

ชมบรรยากาศสด “โซลาร์ อิมพัลส์” ขึ้นจากมัณฑะเลย์ตี 4 อำลาพม่ามุ่งหน้าเข้าจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#00003>เลื่อนกำหนดมาหลายครั้ง เครื่องบินพลังสุริยะโซลาร์อิมพัลส์ 2 บินขึ้นจากสนามบินมัณฑะเลย์ ในท่ามกลางความมืดตอนเช้าตรู่วันจันทร์ 30 มี.ค.นี้ มุ่งหน้าสู่นครฉ่งชิ่ง ประเทศจีน เป็นเที่ยวที่มีความท้าทายมากที่สุดสำหรับนักบิน เนื่องจากทันทีที่พ้นจากรันเวย์ ก็จะต้องเร่งเครื่อง นำ Si2 ไต่เพดานบินขึ้น ให้พ้นความสูงของเทือกเขาทางตอนเหนือของพม่า เที่ยวบินที่ 5 ซึ่งเริ่มในวันนี้จะใช้เวลาบินราว 19 ชั่วโมง ระยะทาง 1,375 กิโลเมตร. </b>


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ในที่สุดเครื่องบินที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็บินขึ้นจากสนามบินนานาชาตินครมัณฑะเลย์ ตอนเช้าตรู่วันจันทร์ 30 มี.ค.นี้ มุ่งหน้าไปยังนครฉ่งชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่ 5 หรือช่วงที่ 5 ของการบินรอบโลก หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งขณะอยู่ในพม่า เนื่องจากสภาพลมฟ้าอากาศไม่อำนวย

โซลาร์ อิมพัลส์ 2 (Solar Impulse 2) ขึ้นบินจากรันเวย์หมายเลข 35 เมื่อเวลาประมาณ 04.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย (ซึ่งเร็วกว่าเวลาในพม่า 30 นาที) โดย แบร์ตร็องด์ พิกการ์ด (Bertrand Piccard) ประธาน และผู้ก่อตั้งโครงการทำหน้าที่เป็นนักบินสำหรับเที่ยวบินนี้ในการบินรอบโลกที่จะบินทั้งหมด 12 ช่วง

ตามข้อมูลที่โพสต์ทางทวิตเตอร์ เที่ยวบินมัณฑะเลย์-ฉ่งชิ่ง มีความท้าทายมากที่สุดนับตั้งแต่ขึ้นบินเที่ยวแรกจากกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ทั้งนี้ เนื่องจากว่า เพียงไม่นานที่บินขึ้นจากสนามบินมัณฑะเลย์ โซลาร์ อิมพัลส์ 2 จะต้องเร่งไต่เพดานบินขึ้นสู่ระดับ FL240 (24,000 ฟุต) ตามความสูงชันของเทือกเขาทางภาคเหนือของพม่า และนักบินจะต้องสวมหน้ากากออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อพ้นจากเทือกเขาสูงไปแล้ว Si2 จึงจะเริ่มบินในโหมดประหยัดพลังงานปกติ

“ไฟลต์เอ็นจิเนียร์” หรือวิศวกรสำหรับเที่ยวบินนี้ ได้ตรวจเช็กความพร้อมของ Si2 เสร็จเรียบร้อย อยู่ในสภาพพร้อมบินตั้งแต่เวลา 01.30 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 3 น.เศษ (เวลาในประเทศไทย) ทีมงานได้นำเครื่องบินเคลื่อนออกจากโรงเก็บไปยังบริเวณลานจอด เตรียมพร้อมรอคำสั่งจากศูนย์ควบคุมการบินที่ตั้งอยู่ในประเทศโมนาโก นครรัฐเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางด้านยุโรป ประมาณ 4 น. นักบินจึงได้ออกไปยังเครื่องบิน ตรวจเช็กห้องนักบินเป็นครั้งสุดท้าย

โซลาร์ อิมพัลส์ บินจากเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ถึงนครใหญ่อันดับ 2 ของพม่า ตอนค่ำวันที่ 19 มี.ค. และใช้เวลา 3 วันจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ได้ไม่รู้จบสิ้น สะอาด และเป็นมิตรต่อโลก ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาในมัณฑะเลน์หลายระดับจำนวนนับพันคนเข้ารับฟัง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย
.

.

.
ตลอดเวลา 10 วันที่ผ่านมา สื่อต่างๆ ในพม่าได้ให้ความสนใจรายงานเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องบิน และเจตนารมณ์ในการรณรงค์การใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นประธานาธิบดีเต็งเส่ง แห่งพม่า ได้ให้เกียรติไปเยี่ยมเยือนโซลาร์ อิมพัลส์ ถึงโรงเก็บ และยังให้กำลังใจทีมงาน ยังความปลื้มปีติให้แก่ทุกคน ตั้งแต่นายพิกการ์ด ซึ่งเป็นประธานและผู้ก่อตั้งของโครงการ กับนายอันเดร บอร์ชแบร์ก ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งโครงการนี้ และยังเป็นนักบินอีกคนหนึ่ง จนถึงเจ้าหน้าที่ร่วมทีมทุกคนด้วย คนต่างๆ เหล่านี้ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความทรงจำอันดีงามของพวกเขาขณะอยู่ในพม่า

เครื่องบินพลังสุริยะมุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหญ่จีน โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงชนิดใดๆ แม้แต่หยดเดียว เช่นกับทุกเที่ยวบินที่ผ่านมา เที่ยวบินที่ 5 นี้ มีระยะทางราว 1,375 กิโลเมตร (742 ไมล์ทะเล) คาดว่าจะใช้เวลาบินราว 19 ชั่วโมง จนถึงสนามบินฉ่งชิ่งเจียงเป่ย ทวิตเตอร์ของโซลาร์ อิมพัลส์ระบุ

ภาพที่เผยแพร่ในเวลาไล่เลี่ยกันยังแสดงให้เห็นทีมงานในมัณฑะเลย์ พักผ่อนอย่างสบายอารมณ์หลังจากทำงานหนัก ก่อนจะช่วยกันเก็บพับโรงเก็บเครื่องบิน เก็บรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทำความสะอาดสถานที่ เตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางในตอนเช้า เพื่อติดตาม และล่วงหน้าไปเตรียมการลงจอดของ Si2 ในนครฉ่งชิ่ง

ในช่วงต่อไป เครื่องบินพลังสุริยะจะบินต่อไปยังนครหนานจิง ทางภาคตะวันอกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งจะเป็นปลายทางสุดท้ายในทวีปเอเชีย ก่อนบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังรัฐฮาวายของสหรัฐฯ รวมระยะทางกว่า 8,000 กม. ซึ่งเป็นช่วงบินที่ยาวไกลที่สุด และเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของโซลาร์ อิมพัลส์ เครื่องบินลำนี้สามารถบินติดต่อกันได้เป็นเวลาถึง 5 วันกับ 5 คืน โดยไม่ต้องหยุดพักเพื่อบำรุงรักษา เพราะไม่ต้องการเชื้อเพลิงใดๆ

จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ก่อนใครๆ และยังคงพัฒนานำหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง.
.
อำลามัณฑะเลย์ Twitter/SolarImpulse

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13

14
กำลังโหลดความคิดเห็น