ASTVผู้จัดการออนไลน์ - โซลาร์ อิมพัลส์ 2 (Solar Impulse 2) บินถึงนครมัณฑะเลย์ คืนวันพฤหัสบดี 19 มี.ค.นี้ โดยไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงใดๆ อีกเที่ยวหนึ่ง หลังบินขึ้นจากเมืองพาราณสี ในอินเดีย ตอนเช้าตรู่วันเดียวกัน ผ่านบังกลาเทศ เข้าสู่ดินแดนภาคเหนือพม่า และการบินช่วงที่ 4 หรือ “ไฟลต์ 4” นี้ ใช้เวลาบินเพียง 13 ชั่วโมง กับ 29 นาทีเท่านั้น เทียบกับ 20 ชั่วโมงที่ประมาณการเอาไว้
ตามรายงานในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ หลังจากบินระยะทาง 1,398 กิโลเมตร เครื่องบิน Si2 ลงจอดที่ท่าอากาศยานมัณฑะเลย์ เวลา 13.20 จีเอ็มที หรือเวลามาตรฐานสากล หรือ 19.50 น. ตามเวลาในพม่า ซึ่งช้ากว่าเวลาในประเทศไทยครึ่งชั่วโมง
หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวางจำหน่ายวันศุกร์ที่ 20 มี.ค.2558 รายงานว่า รัฐมนตรีจากส่วนกลาง จำนวน 2 นาย รวมทั้งมุขมนตรีแห่งเขตมัณฑะเลย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง และเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำพม่า ได้ไปรอต้อนรับ Si2 ที่ท่าอากาศยาน และได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ทีมงาน และจัดฟ้อนรำ โดยนาฏศิลปินที่แต่งกายแบบกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกด้วย
สื่อของทางการไม่ได้กล่าวถึงกำหนดการใดๆ ของ Si2 ขณะอยู่ในพม่า แต่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เครื่องบินที่ใช้ไฟฟ้าผลิตจากแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนลำนี้ จะเดินทางต่อไปยังนครฉ่งชิ่ง และนครหนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันอาทิตย์ ซึ่งจะเป็นปลายทางสุดท้ายในทวีปเอเชีย
ในช่วงหนึ่งขณะบินอยู่เหนือบังกลาเทศ และทำระยะทางได้กว่าครึ่งทางแล้วด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และแดดจัด แบร์ตร็องด์ พิกการ์ด (Bertrand Piccard) ซึ่งทำหน้าที่เป็นนักบินเที่ยวนี้ได้ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ รายงานให้ภาคพื้นดินทราบว่า เขากำลังพาเครื่องบินพลังงานสุริยะบินด้วยความเร็วถึง 108 นอต หรือ 200 กม./ชม. ขณะที่ความเร็วเฉลี่ยอยู่ประมาณ 64 นอต ซึ่งดูจะเป็นสาเหตุทำให้ Si2 ทำเวลาได้เร็วกว่าคาดการถึง 6 ชั่วโมง
หลายภาพที่พิกการ์ดส่งจาก Si2 แสดงให้เห็นระบบแม่น้ำสายใหญ่ อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของบังกลาเทศ กับความอุดมของผืนดินสีเขียวที่อยู่เบื้องล่าง ก่อนจะบินเข้าสู่น่านฟ้าของพม่าในช่วงบ่ายคล้อยวันเดียวกัน
เขาเขียนลงในทวิตเตอร์หลังลงจอดว่า ดีใจล้นเหลือที่ได้บินลงจอดในพม่าอีกครั้ง ซึ่งเมื่อปี 2541 เขาเคยไปลงในประเทศนี้ (นครย่างกุ้ง) ตอนที่บินรอบโลกกับไบรต์ลิง ออร์บิเตอร์ 2 (Breitling Orbiter 2)
นับเป็นเที่ยวบินที่ปราศจากปัญหาใดๆ อีกเที่ยวหนึ่งสำหรับ Si2 นับตั้งแต่ขึ้นบินช่วงแรกจากกรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi) ไปยังกรุงมัสกัต (Muscat) ในตะวันออกกลาง เมื่อสิบวันก่อน และช่วงที่ 2 จากมัสกัต ไปยังเมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) รัฐกุจารัต (Gujarat) ในอินเดีย กับช่วงที่ 3 คือเที่ยวก่อนหน้านี้ จากอาห์เมดาบัด ไปพาราณสี (Varanasi)
เมื่อนับถึงเที่ยวบินนี้ก็เป็นอันว่า Si2 บินมาแล้ว 5 วันกับ 5 คืน โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงชนิดใดเลยนอกจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดด โดยMi>แผงโซลาร์เซลล์กว่า 17,000 ชุด ที่ติดบนปีกกางทั้งสองข้างยาวกว่า 70 เมตร และตามความยาวของลำ
โซลาร์ อิมพัลส์ 2 กำลังรณรงค์ ารใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่สะอาด ยั่งยืน ใช้ได้ไม่หมด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมวลมนุษย์ หากบินรอบโลกได้สำเร็จซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 5-6 เดือน รวมระยะทางราว 35,000 กม. ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า เครื่องบินพลังสุริยะสามารถบินได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ถึงแม้จะต้องพึ่งพาแสงแดดในการชาร์จประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ก็ตาม
เครื่องบินที่มีต้นกำเนิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ลำนี้กำลังพยายามบินรอบโลก ซึ่งมีกำหนดบินทั้งหมดรวม 12 ช่วง หรือ 12 ไฟลต์ โดยไฟลต์ 7 จากหนานจิง จะบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกรวดเดียวไปยังนครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นช่วงยาวที่สุด รวมระยะทางกว่า 8,000 กิโลเมตร และเป็นความท้าทายอย่างสูง
หลังจากนั้นโซลาร์ อิมพัลส์ 2 จะบินจากรัฐฮาวาย ไปยังเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐฯ และบินข้ามประเทศไปยังนครนิวยอร์ก ก่อนจะบินช่วงยาวอีกครั้งหนึ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกรวดเดียวไปยังปลายแห่งใดแห่งหนึ่งในยุโรปใต้ หรือแอฟริกาเหนือ และกลับไปยังจุดเริ่มต้น ซึ่งออกเดินทางจากที่นั่นวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หากทำได้สำเร็จตามแผนการก็อาจเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างอากาศยานแห่งอนาคตที่สามารถบินไปไหนมาไหนได้อย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ชนิดใดๆ.
.
.
หายเหนื่อย - โซลาร์ อิมพัลส์ 2 ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และแสนคึกคัก เมื่อไปถึงสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ ในคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สื่อของทางการพม่ายังไม่ได้พูดถึงรายละเอียดต่างๆ หลังจากนี้ แต่การใช้ “โรงเก็บเครื่องบินพับได้” (Inflatable Hangar) สำหรับ Si2 ในมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นครั้งแรก อาจส่อให้เห็นว่าเครื่องบินกับทีมงานจะพักอยู่ในพม่าอีก 2-3 วันข้างหน้าก็เป็นได้ ปลายทางต่อไปคือนครฉ่งชิ่ง กับนครหนานจิง ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งจะเป็นสองปลายทางสุดท้ายในเอเชีย. |
.
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25