รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ได้ร้องต่อเวียดนามให้ยุติการปล่อยให้รัสเซียใช้อดีตฐานทัพของสหรัฐฯ เป็นสถานที่เติมเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อดำเนินภารกิจอันเป็นการแสดงแสนยานุภาพเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
คำร้องขอดังกล่าวมีขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียได้เพิ่มเที่ยวบินในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดระหว่างจีน ญี่ปุ่น และชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พล.อ.วินเซนต์ บรู้ค ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิก กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า เครื่องบินของรัสเซีย ทำการบินยั่วยุ รวมทั้งเที่ยวบินรอบเกาะกวม อันเป็นเขตแดนของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นฐานทัพอากาศสหรัฐฯ สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ยืนยันบทบาทของอ่าวกามแรง (Cam Ranh) ต่อกิจกรรมของเครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
พล.อ.บรู้ค กล่าวว่า เครื่องบินที่บินวนรอบเกาะกวมได้รับการเติมเชื้อเพลิงโดยเครื่องบินบรรทุกน้ำมันรัสเซียที่บินมาจากอ่าวยุทธศาสตร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้เข้าไปเปลี่ยนให้กลายเป็นฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือในช่วงสงครามเวียดนาม
ความเต็มใจของเวียดนามที่อนุญาตให้รัสเซียใช้อ่าวกามแรง สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนอันซับซ้อนของเวียดนามในภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างจีน และรัสเซียที่อยู่ฝั่งหนึ่ง กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกฝ่ายหนึ่ง
วอชิงตัน มักกระตือรือร้นที่จะรักษาการเข้าถึงอ่าวกามแรมที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำคัญต่อภูมิภาคเอเชียในการคานอำนาจจีน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาค เรือของสหรัฐฯ หลายลำได้เข้าเทียบท่าเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทางฝั่งเวียดนามเองก็พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสิ่งที่มองว่า เป็นการรุกรานของจีน ขณะเดียวกัน ก็ให้ความใกล้ชิดกับรัสเซียทั้งในด้านความร่วมมือด้านการป้องกัน และพลังงาน
อ่าวกามแรง ในเวลานี้เป็นที่ตั้งของเรือดำน้ำ 3 ลำ ที่กองทัพเรือเวียดนามซื้อมาจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การขยายตัวของจีนในทะเลจีนใต้ และคาดว่าเรือดำน้ำอีก 2 ลำ จะเดินทางถึงเวียดนามในปีหน้า
พล.อ.บรู้ค กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า เที่ยวบินเหล่านี้ชี้ว่ารัสเซียกระทำการขัดขวางผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของชาติอื่นๆ แต่สหรัฐฯ ก็เคารพสิทธิของเวียดนามที่จะทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ เช่นกัน พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เวียดนามรับประกันว่ารัสเซียจะไม่ใช้สิทธิในการเข้าถึงอ่าวกามแรม ดำเนินกิจกรรมที่อาจเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค
แม้ พล.อ.บรู้ค ปฏิเสธที่จะกล่าวว่า เที่ยวบินของรัสเซียที่อ้างถึงเกิดขึ้นเมื่อใด หรือความถี่ของเที่ยวบิน และจำนวนเครื่องบินที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่รายนี้ยืนยันว่า เที่ยวบินของรัสเซียเกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ไครเมียผนวกเข้ากับรัสเซียเมื่อปีก่อน ที่จุดชนวนความขัดแย้งชายแดนกับยูเครน และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซีย และสหรัฐฯ
ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคแปซิฟิก ระบุเมื่อเดือนพ.ค. 2557 ว่า การเข้าแทรกแซงในยูเครนของรัสเซีย มีขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกิจกรรมทางอากาศของรัสเซียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการแสดงแสนยานุภาพ และการรวบรวมข่าวกรอง
กระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ระบุเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ว่า เครื่องบินบรรทุกน้ำมัน II-78 ของรัสเซียได้ใช้อ่าวกามแรงในปี 2557 ที่สามารถเติมเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องบินทิ้งระเบิด TU-95 Bear ซึ่งคำแถลงดังกล่าวยังถูกรายงานในสื่อของทางการเวียดนามด้วย
ในเวลานั้น รัสเซียได้เพิ่มกิจกรรมทางอากาศ และการลาดตระเวนทางทะเลใกล้กับพรมแดนของพันธมิตรนาโต้ รวมทั้งการลาดตระเวนของเครื่องบินทิ้งระเบิด Bear เหนือช่องแคบอังกฤษ และเมื่อปีก่อน นาโต้ ดำเนินการเข้าสกัดเครื่องบินรัสเซียมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปี 2556 ถึง 3 เท่า
เที่ยวบินลาดตระเวนของเครื่องบินทิ้งระเบิดรัสเซียถูกลดภารกิจลง หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้รื้อฟื้นภารกิจเที่ยวบินเช่นนี้ขึ้นมาอีกครั้งในปี 2550
ในความพยายามที่จะเสริมความสัมพันธ์กับเวียดนาม สหรัฐฯ ได้ทุ่มความช่วยเหลือทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา การกำจัดกับระเบิด ทุนการศึกษา และพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนความร่วมมือด้านกลาโหม ที่ถูกจำกัดการค้าขายอาวุธรุนแรงได้เริ่มผ่อนคลายลงตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมฝึกซ้อมด้านมนุษยธรรมเมื่อปลายปีก่อน และมีแผนที่จะจัดซ้อมอีกในเดือนนี้
นอกจากนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนเวียดนามในช่วงเวลาที่เวียดนามกำลังมีปัญหาขัดแย้งดินแดนทางทะเลกับปักกิ่ง และเมื่อวันศุกร์ (6) ทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม ประกาศว่า เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ.