รอยเตอร์ - เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม เผยวันนี้ (6) ว่า หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในปีนี้ ในการเดินทางเยือนครั้งสำคัญที่เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วระหว่างอดีตศัตรูสงคราม แม้จะยังคงไม่ลงรอยกันในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนก็ตาม
เหวียน ฝู จ่อง จะกลายเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนแรกที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ที่เป็นผู้ดูแลควบคุมกองกำลังตำรวจซึ่งถูกตำหนิอย่างกว้างขวางสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเดินทางไปพร้อมกันด้วย
การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของทั้งคู่จะมีขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าล่าสุดในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เคยสู้รบกันในสงครามนองเลือดเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน และปัจจุบัน ได้ร่วมฉลองครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ฟื้นความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติ
“การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน และพัฒนาไปอย่างราบรื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย และความเข้าใจต่อกันนี้จะเปลี่ยนการพูดคุยไปสู่การปฏิบัติ” เท็ด โอเซียส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม กล่าวในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยฮานอย
การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ก้าวไปอีกขั้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ด้วยการเยือนเวียดนามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เวียดนามกำลังประสบกับปัญหาดินแดนทางทะเลกับจีน
สหรัฐฯ เทความช่วยเหลือให้แก่เวียดนามทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา การกำจัดกับระเบิด การมอบทุนการศึกษา และด้านพลังงานนิวเคลียร์ และเมื่อไม่นานนี้ยังมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับทางทหารเพิ่มขึ้น
ความร่วมมือด้านกลาโหม ที่ก่อนหน้าถูกจำกัดห้ามการซื้อขายอาวุธรุนแรง วอชังตันเริ่มผ่อนคลายมาตรการในเดือน ต.ค. และจัดการฝึกซ้อมด้านมนุษยธรรมระหว่างทหารสองฝ่ายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า ผลประโยชน์ของเวียดนามอยู่ในความหลากหลายของความสัมพันธ์ของประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการพันธมิตรใหม่ในกรุงฮานอยที่เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในการเสริมอิทธิพลของตัวเองในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเป็นการถ่วงดุลอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน
“เวียดนามควรมีเพื่อนหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ซับซ้อน และมีพลวัตอย่างภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีข้อเสนอมากมายที่จะเสริมความมั่นคงของเวียดนามในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” โอเซียส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิทธิมนุษยชนของเวียดนามยังคงเป็นจุดที่ยังติดขัด ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในบรรดาชาติตะวันตกที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการจับกุม คุมขัง และข่มขู่บล็อกเกอร์ทางการเมือง ผู้ชุมนุมประท้วง และนักเคลื่อนไหว แม้บางคนจะถูกปล่อยตัวแล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังคงถูกควบคุมตัว และมีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง
“ความสัมพันธ์ของเราสามารถบรรลุได้เต็มศักยภาพหากเวียดนามแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน” โอเซียส กล่าว.