เอเอฟพี - ชาวพม่าเดินขบวนประท้วงในนครย่างกุ้งวันนี้ (11) เพื่อต่อต้านกฎหมายที่ให้สิทธิการลงคะแนนเสียงแก่พลเมืองชั่วคราวของพม่า ที่รวมทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคน หลังกฎหมายมอบสิทธิลงคะแนนเสียงในการลงประชามติให้แก่คนกลุ่มนี้ประกาศใช้เมื่อวันอังคาร (10)
ประเด็นการให้สิทธิแก่บุคคลที่ถือเป็นพลเมืองชั่วคราวได้จุดชนวนความไม่พอใจในหมู่ชาวพุทธในรัฐยะไข่ ที่คาดว่ามีชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณครึ่งล้านถือบัตรขาว (เอกสารแสดงความเป็นพลเมืองชั่วคราว)
“ถ้าหากคนเหล่านั้นที่ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงไม่เคารพธงชาติพม่า เราจะล้มเหลวในอำนาจอธิปไตย” นี นี หม่อง ชาวพุทธยะไข่ที่เข้าร่วมเดินขบวนกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง และพระสงฆ์ในนครย่างกุ้ง กล่าว
ฉ่วย มาน ประธานรัฐสภาพม่า ที่เป็นหัวหน้าพรรครัฐบาล ระบุว่า ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้รับพิจารณาในประเด็นดังกล่าว และว่ากฎหมายฉบับนี้ยังสามารถแก้ไขได้
“ผมกังวลว่าการโต้เถียงรุนแรงของสาธารณชนอาจรบกวนการรวมตัวของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ความปรองดองแห่งชาติ และสันติภาพ” ฉ่วย มาน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงเนปีดอ
ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมปะทุขึ้นรัฐยะไข่ในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน และก่อให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่จากเกือบ 1.3 ล้านคน ถือเป็นคนไร้รัฐ ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับข้อจำกัดที่ส่งผลต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่ความสามารถในการเดินทาง การทำงาน ไปจนถึงขนาดครอบครัว รัฐบาลพม่าเรียกชาวโรฮิงญาว่า เบงกาลี เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าหลายคนจะสามารถสืบสาวได้ว่า บรรพบุรุษตั้งถิ่นฐานในพม่ามาแล้วหลายชั่วอายุคนก็ตาม
ฉ่วย หม่อง สมาชิกรัฐสภาชาวโรฮิงญา กล่าวว่า มีประชาชนราว 1.5 ล้านคนในพม่าที่ถือสิทธิพลเมืองชั่วคราว และส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนของพม่า และประมาณ 500,000 คนเป็นชาวโรฮิงญา
“นี่เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นสิทธิของพลเมืองที่จะลงคะแนนเสียง” ฉ่วย หม่อง กล่าวและว่าประเด็นนี้กลายมาเป็นข้อถกเถียงหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในปี 2555.