xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าตาย 1 เจ็บอีกนับสิบในเหตุประท้วงเหมืองทองแดงจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีเดือนมี.ค. 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรักษาความปลอดภัยในเขตโครงการเหมืองทองแดงที่จีนให้การสนับสนุนในเมืองมงยวา ทางเหนือของพม่า ชาวบ้านในพื้นที่ต่างคัดค้านและชุมนุมประท้วงโครงการเหมืองแห่งนี้โดยกล่าวหาว่ามีการยึดที่ดินทำกินและทำลายสิ่งแวดล้อม และในการชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุดมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต.-- Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>

เอเอฟพี - โฆษกรัฐบาลพม่าเผยวันนี้ (23) ว่า หญิงชาวพม่าที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านเหมืองทองแดงที่จีนให้การสนับสนุนในพม่าถูกยิงเสียชีวิต และทางการจะเข้าสืบสวนการรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปะทะกันครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นที่เหมืองดังกล่าว

ผู้เสียชีวิตถูกยิงเมื่อวันจันทร์ (22) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากยิงขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามจะหยุดคนงานไม่ให้ตั้งรั้วใกล้กับเหมืองเลตปะด่อง ในเมืองมงยวา

“เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจที่มีผู้หญิงเสียชีวิตในความขัดแย้งนี้” เย ตุ๊ต รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารพม่า กล่าว และระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดฉากยิงก่อน แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันว่ากระสุนของตำรวจสังหารหญิงคนดังกล่าว

รัฐมนตรีคนเดิมกล่าวว่า ผู้ชุมนุมบางคนใช้หนังสติ๊กโจมตีแรงงานเหมือง และยังควบคุมตัวพนักงาน 10 คน เป็นเวลาสั้นๆ

“เราจะทบทวนวิธีการรับมือเหตุปะทะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” เย ตุ๊ต กล่าว

สื่อของรัฐรายงานเมื่อวันจันทร์ (22) ว่า ผู้ชุมนุมประท้วง 9 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 นาย ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้

เหมืองทองแดงเลตปะด่อง ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากมีการกล่าวหาว่ามีการยึดที่ดิน และสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม และยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากจีน

บริษัทวานเป่า ของจีนที่ดำเนินการโครงการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทุนกับกิจการของกองทัพทหาร กล่าวว่า การเสียชีวิตของหญิงคนดังกล่าวเป็นเรื่องเจ็บปวด และน่าเศร้า

“เหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของหญิงคนดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน เราเข้าใจว่าตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุ และเราหวังว่าพวกเขาจะเริ่มสอบสวนเหตุโศกสลดนี้” บริษัทวานเป่าระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ของบริษัท

ในเดือน พ.ย.2555 ตำรวจได้เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมที่เหมืองด้วยฟอสฟอรัส ทำให้มีผู้ชุมนุมหลายสิบคน รวมทั้งพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ การปราบปรามครั้งนั้นถือว่าเป็นการปราบปรามที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารในปี 2554 ซึ่งจุดชนวนความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก

และเมื่อช่วงต้นปี นักเคลื่อนไหวได้ลักพาตัวแรงงานชาวจีนของเหมือง 2 คน แต่ได้ปล่อยตัวออกมาในภายหลัง โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ

รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศหลากหลายด้านในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และอนุญาตให้อองซานซูจี เข้าสู่รัฐสภา แต่ปัญหาความท้าทายยังมีอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งเรื่องที่ดิน

บริษัทวานเป่า ระบุเมื่อวันจันทร์ (22) ว่า รัฐบาลพม่าจะได้รับเงิน 140 ล้านดอลลาร์ต่อปีในรูปของภาษีจากโครงการเหมืองแห่งนี้ หลังจากในเดือน ก.ค.2556 รัฐบาลพม่าได้แก้ไขเงื่อนไขในข้อตกลงโครงการเหมืองกับบริษัทวานเป่า โดยให้ประเทศได้ส่วนแบ่งกำไรในความพยายามที่จะบรรเทาความไม่พอใจของสาธารณชนต่อโครงการนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น