ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต (Hagupit) ที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง เป็นไต้ฝุ่นระดับ 5 (202-221 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในวันพฤหัสบดี 4 ธ.ค.นี้ กำลังมุ่งหน้าจากทะเลแปซิฟิกเข้าถล่มย่านใจกลางหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยความแรงจัด และเคลื่อนที่เร็ว 25-30 กม./ชม. ทางทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์หลายล้านยังคงซมอยู่กับพิษพายุโซนร้อนซินลากู (Sinlaku) ที่เพิ่งจะผ่านไปหยกๆ ซึ่งทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นประเทศที่ถูกพายุโซนร้อนรุนแรงทำลายเสียหายมากที่สุดในโลกในปี 2557
แต่ฤดูกาลแห่งหายนะยังไม่ได้ผ่านไปง่ายๆ แม้จะถึงช่วงเดือนสุดท้ายแห่งปีแล้วก็ตาม สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ได้แจ้งเตือนให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบเกี่ยวความหายนะที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้พัดเข้าถึงฝั่งคืนวันที่ 7 ธ.ค. ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 วันก่อนหน้านั้น
“ฮากูปี๊ต” เป็นชื่อภาษาตากาล็อก อันเป็นภาษาท้องถิ่นของฟิลิปปินส์เอง มีความหมายว่า “โบย” หรือ “กระหน่ำตี” “ลงแส้อย่างหนัก” หรือ “ตัดขาด” เมื่อเดือน ก.ย.2551 หรือ 6 ปีที่แล้ว ไต้ฝุ่นอีกลูกหนึ่งที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ได้พัดถล่มเกาะภาคเหนือของฟิลิปปินส์ ก่อนจะพัดเข้าทะเลจีนใต้ เงยหัวขึ้นสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะหักมุมลงทิศตะวันตกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่งในนาทีสุดท้าย ซัดเข้าเวียดนามแบบหักปากกาเซียน พยากรณ์
ครั้งนั้นพายุโซนร้อนฮากูปี๊ต เข้าถล่มภาคเหนือเวียดนาม ซึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32 คน ก่อนจะพัดเลยเข้าภาคเหนือลาว ทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดอุทกภัยรุนแรงในหลายแขวง
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ในกรุงฮานอย ได้ออกคำเตือนในค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการพยากรณ์อากาศในช่วง 24-28 ชั่วโมงข้างหน้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกล่าสุดนี้มี “กระสวน” การพัฒนาที่สลับซับซ้อน ยังไม่สามารถที่จะตัดความเป็นไปได้ สำหรับโอกาสที่ฮากูปี๊ต จะพัดเลยเข้าสู่ทะเลจีนใต้ต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งแม้ว่าจะลดระดับความรุนแรงลงเป็นพายุโซนร้อนลูกหนึ่ง เหมือนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็ยังแรงพอที่จะสร้างความเสียหายให้แก่กองทัพเรือหาปลาของเวียดนามได้
แผนภูมิพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยาหลักๆ ที่ออกตอนค่ำวันพฤหัสบดีนี้ คือ ทั้ง JMT แห่งญี่ปุ่น หอสังเกตการณ์แห่งฮ่องกง และศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ Joint Typhoon Warning Center ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในนครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ต่างแสดงให้เห็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากูปิต พุ่งเข้าถล่มเขตวิซายาส (Visayas) หรือ “หมู่เกาะภาคกลาง” ของฟิลิปปินส์ ปลายทางของพายุ หยุดอยู่แค่เกาะซีบู (Cebu) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค ในขณะเป็นไต้ฝุ่นระดับ 2
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายสิบปีมานี้ยังไม่เคยมี่ไต้ฝุ่นลูกใดที่สลายตัวไปทันทีทันใดขณะยังเป็นไต้ฝุ่นที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางถึงระดับ 2 ซึ่งในระดับนั้นพายุยังมีโอกาสที่จะปั่นตัวเองรุนแรงขึ้นได้อีก ภายใต้สภาพการณ์เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศที่เหมาะสม หรืออาจจะค่อยอ่อนกำลังลงจนมลายไปในที่สุดอีก 1 หรือ 2 วันหลังจากนั้น
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ เวียดนาม ที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชนในการ “ไล่จับพายุ” กล่าวว่า จะต้องติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของพายุรุนแรงลูกนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป.
.
2
3