[คลิกที่นี่.. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมโลก]
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วันอังคาร 9 ธ.ค.2557 ไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต ได้เคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้อย่างเต็มตัว ในขณะที่เริ่มอ่อนแรงลงสู่ระดับพายุโซนร้อน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางลดลง และเคลื่อนตัวเร็วขึ้นในแนวตะวันตก-ตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะกระแสลมหนาวกับกระแสน้ำเย็นจากตอนบนเคลื่อนตัวลงสู่ตอนล่างของทะเลใหญ่อย่างรวดเร็ว และการไหลบ่าแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อมูลในเช้าวันนี้เชื่อกันว่า ฮากูปี๊ต จะยังห้อข้ามทะเลใหญ่ต่อไปอีกตลอด 2 วันข้างหน้า จนอ่อนลงกลายเป็นดีเปรสชันลูกหนึ่ง ขณะพัดขึ้นฝั่งเวียดนามทางตะวันออกของนครโฮจิมินห์สุดสัปดาห์นี้
ฮากูปี๊ต (Hagupit) พายุชื่อภาษาตากาล็อกได้กลายเป็นไต้ฝุ่นจากทะเลแปซิฟิกตะวันตกลูกแรกของปีนี้ ที่เดินทางไกลแสนไกล และพุ่งดิ่งลงใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ
ตามความเห็นของนักอุตุนิยมวิทยาในเวียดนาม ถ้าหากฮากูปี๊ต ก่อเกิดขึ้นมาในฤดูปกติแห่งพายุ คือ ในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย. ฮากูปี๊ต ก็อาจจะเป็นไต้ฝุ่นใหญ่ที่สุดอีกลูกหนึ่ง มีพลานุภาพในการทำลายล้างรุนแรงที่สุด และอาจจะเดินทางไปไกลที่สุด เท่าๆ หรือไม่น้อยกว่าไต้ฝุ่นไห่แย่น (Haiyan) ในเดือน พ.ย.2556 ทิศทางเคลื่อนตัวของมันอาจจะเป็นแนวเดียวกันกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนั้น ที่เข่นฆ่าชาวฟิลิปปินส์ไปกว่า 6,000 คน ชาวจีน ชาวเวียดนาม กับชาวลาวเสียชีวิตอีกจำนวนมาก
สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อฮากูปี๊ต เริ่มปั่นความเร็วขึ้นเป็น “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” ระดับ 5 สำนักอุตุนิยมวิทยาในย่านนี้หลายแห่ง กล่าวว่า พายุลูกมหึมากำลังจะบ่ายหน้าเฉียดเกาะลูกซอนของฟิลิปปินส์ ขึ้นสู่ย่านเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น กับเกาหลี เช่นเดียวกับไต้ฝุ่น และพายุโซนร้อนอีกนับสิบลูกที่ “พัดขึ้นเหนือ” ในปีนี้ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในชั่วเวลาเพียงข้ามวัน เมื่อกระแสลมเย็นจากจีนพัดลงใต้ และพุ่งออกไปทุกทิศทุกทางในสัปดาห์เดียวกัน ในฤดูกาลที่ “กระแสลมโลก” (Earth Wind) เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามการเอนเอียงของโลกขณะหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้ซีกเหนือเริ่มเข้าสู่หน้่าหนาว และซีกใต้กลายเป็นหน้าร้อน
นี่คืออิทธิพลที่ยิ่งใหญ่เหนืออิทธิพลใดๆ ในการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบนดาวเคราะห์โลกของเรา
กระแสลมหนาว-กระแสน้ำเย็นอีกสายหนึ่ง เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผ่านหมู่เกาะญี่ปุ่น-คาบสมุทรเกาหลี พัดพากระแสน้ำเย็นจากทะเลจีนตะวันออก เลียบชายฝั่งทวีปใหญ่ ลงสู่ทะเลจีนใต้ ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งได้พัดวนขึ้นจากขั้วโลกใต้ เข้าใกล้เส้นศูนย์สูตร บางส่วนเลยสู่มหาสทุรอินเดียทางหนึ่ง ทะเลอ่าวไทยกับทะเลจีนใต้อีกทางหนึ่ง ซึ่งได้ทำให้ “กระสวน” หรือ “แพตเทิร์น” การเคลื่อนตัวของมวลอากาศในทั่วทั้งย่านเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เว็บไซต์ http://earth.nullschool.net/ ที่เฝ้าติดตามความเป็นไปของกระแสลมพื้นผิวโลก กับกระแสน้ำในมหาสมุทร ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ พร้อมๆ กับการก่อตัวที่ผิดกาลเวลาของไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต
.
[คลิกที่นี่.. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมโลก]
ตอนบ่ายวันศุกร์ที่ 5 ธ.ค. ดาวเทียมซูโอมิ (Suomi NPP) ขององค์การนาซ่า ที่โคจรทำมุมอย่างเหมาะเจาะกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต ได้ส่ง ภาพถ่ายเจาะนัยน์ตา ของมันลงมาให้ชาวโลกได้เห็นความน่าอัศจรรย์แห่งธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังมีดาวเทียมอีกหลายดวง ทั้งของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ถ่ายภาพพายุเอาไว้จำนวนมาก รวมทั้งภาพอินฟราเรดอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเบื้องล่าง
ภาพถ่ายจากอวกาศโดยดาวเทียมของนาซา และดาวเทียมขององค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น ที่เผยแพร่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นการไหลวนอย่างน่าอัศจรรย์ของมวลไอน้ำที่พาดเป็นทางยาวจากหมู่เกาะญี่ปุ่นเข้าถึงทะเลฟิลิปปินส์ และทะลจีนใต้ ซึ่งได้ช่วยอธิบาย “แพตเทิร์น” ใหม่ในการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในย่านแปซิฟิกตะวันตก
ภาพถ่ายเหล่านั้นแสดงให้เห็นการบรรจบพบกันอย่างลงตัวระหว่างกระแสลมเย็นจากตอนบน กับแรงดึงดูดมหาศาลของซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต ซึ่งได้ช่วยสยบความดุดันของพายุใหญ่มาเป็นลำดับ กดหัวพายุให้ต่ำลงสู่เส้นรุ้งต่ำ กดศูนย์กลางของพายุให้ลดระดับลงต่ำ ลดความพลุ่งพล่าน จนช่วงหนึ่งทำให้ยากแก่การพยากรณ์ เช่น ที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ของเวียดนามว่าเอาไว้ แต่.. ยิ่งดูดเอามวลอากาศเย็นมหึมหามหาศาลเข้าไปมากเท่าไร อายุของไต้ฝุ่นก็ยิ่งหดสั้นลงตามนั้น ..
บ่ายวันที่ 8 ธ.ค. JTWC ในนครโฮโนลูลู ได้แสดงแผนภูมิพยากรณ์เป็นภาพเคลื่อนไหวสามมิติสั้นๆ แสดงให้เห็นรูปลักษณ์ของฮากูปี๊ต ซึ่งในขณะนั้นอ่อนลงเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 พร้อมเขียนข้อความกำกับเอาไว้ 1 ย่อหน้า แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “กระแสลมโลก” ที่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ของซูเปอร์ไต้ฝุ่นเคราะห์ร้ายอย่างมหาศาล ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก
"Tropical Storm Hagupit's low level circulation center is being obscured by its deep central convection and intensities are hard to pinpoint as the storm interacts with land. Once clear over the waters of the South China Sea, Hagupit is forecast to continue weakening as it approaches the southern coast of Vietnam."
ย่อหน้าข้างบนอธิบายรูปลักษณ์ของฮากูปี๊ตที่ เป็น “พายุหมุนต่ำ” .. อาจจะต่ำกว่าความสูงโดยทั่วไปของไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ลูกอื่นๆ ในฤดูปกติ ซึ่งการหมุนแบบ “โลว์แพตเทิร์น” ได้ส่งผลต่อการกระจายแรงลม ทำให้ยากต่อการคำนวณความแน่นหนาของมวลพายุ ในขณะที่มันเคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดินของหมู่เกาะฟิลิปปินส์.. “แต่เมื่อผ่านเข้าสู่น่านน้ำทะเลจีนใต้เต็มตัว คาดว่าฮากูปี๊ตจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในขณะที่เข้าสู่ฝั่งทะเลภาคใต้เวียดนาม”
.
ภาพสามมิติจากคอมพิวเตอร์ จำลองรูปลักษณ์ของพายุจากข้อมูลดาวเทียม ซึ่งจะทำให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างถูกต้อง ช่วยชีวิตของผู้คนเอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก. |
ภาพถ่ายรวมทั้งข้อมูลจากดาวเทียมช่วยชีวิตมนุษย์ได้เป็นจำนวนมาก ทุกครั้งที่มีพายุใหญ่ก่อตัวขึ้นในทะเลแปซิฟิก แต่ตัวแปรทื่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “พระแม่ธรรมชาติ”. |
.
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่เกิดมาผิดกาลเวลา .. ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไรก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ และอิทธิพลของ “กระแสลมโลก” และก็ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ ที่ทำให้ย่านทะเลอ่าวไทย รอดพ้นจากอิทธิพลในบั้นปลายของไต้ฝุ่นลูกใหญ่อย่างหวุดหวิด และอาจจะด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ที่ทำให้เห็นความลังเลอย่างยิ่งของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเวียดนามในการพยากรณ์ทิศทางการเคลื่อนตัว “อันสลับซับซ้อน” ของมัน
เวียดนาม เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญต่อพายุรุนแรงไม่แพ้ชาติอื่นใดในย่านนี้ โดยมีศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าจับตา และเตือนภัยพายุทุกลูกที่เคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งโดยปกติทุกปีจะมีทั้งไต้ฝุ่น และพายุโซนร้อนพัดเข้าฝั่งปีละ 8-10 ลูก งานอุตุนิมวิทยาจึงมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม 90 ล้าน การพยากรณ์ที่ผิดพลาด หรือล่าช้าไม่ทันการเคยกดดันให้รัฐมนตรีคนหนึ่งต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อหลายปีก่อน
หลังเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดมาหลายวัน สัปดาห์นี้ทางการเวียดนามจังหวัดต่างๆ ได้เรียกเรือประมงใหญ่น้อยกว่า 32,500 ลำ กับลูกเรือกว่า 140,000 คนในทะเลหลวง กลับเข้าฝั่ง หรือรีบเข้าหลบในที่กำบังเพื่อให้ปลอดภัยจากคลื่นสูง 3-4 เมตร กับลมแรงที่พัดครอบคลุมตั้งแต่สุดปลายแหลมญวน ขึ้นไปจนถึง จ.บี่งดิง (Binh Dinh) ในภาคใต้ตอนบน และไกลออกไปจนถึงนครด่าหนัง ในภาคกลาง กับ จ.กว๋างนาม ที่อยู่สูงขึ้นไปอีกในภาคกลางตอนบน
พายุโซนร้อนลูกใหญ่ได้ข้ามพ้นเกาะฟิลิปปินส์ออกไปในเช้าวันอังคารนี้ มุ่งหน้าเข้าย่านใจกลางของทะเลจีนใต้ เฉียดหมู่เกาะสแปรตลีย์ไป เช้าวันเดียวกัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชั้นนำทั่วภูมิภาค ต่างชี้ไปยังปลายทางใหม่ของพายุโซนร้อนฮากูปี๊ต ที่ฝั่งทะเลภาคใต้เวียดนามในศุกร์วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ก่อนสลายตัวเป็นดีเปรสชันที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายจังหวัดชายฝั่ง และอาจจะเลยเข้าสู่ภาคตะวันตกกัมพูชา เมื่อมลายกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ
วันจันทร์ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์อุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคนี้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning Center - JTWC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในนครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ได้ขีดเส้นปลายสุดชีวิตของซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากูปี๊ต.. ในอ่าวไทย (โปรดดูภาพที่ 13)
โชคร้ายยิ่งสำหรับฮากูปี๊ต .. อากาศในทั่วทั้งย่านนี้กำลังเย็นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะสัมผัสได้ทั่วไปในอีก 3-4 วันข้างหน้า ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ Earth Wind กับพระแม่ธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่.
.
ดาวเทียมขององค์การนาซาหลายดวงที่โคจรผ่านย่านนี้ในช่วงที่ผ่านมา ได้ถ่ายภาพ และส่งข้อมูลเกี่ยวกับไต้ฝุ่ยฮากูปี๊ตสู่เบื้องล่างจำนวนมาก รวมทั้งภาพอินฟราเรดจำนวนหนึ่ง ที่องค์การนาซากับองค์การสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAAA) เผยแพร่ในช่วงวันสองวันมานี้ แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นลูกใหญ่ดูดกลืนไอน้ำกับมวลอากาศเย็นปริมาณมากมายมหาศาลเข้าสู่ศูนย์กลาง .. เห็นเป็นทางยาวจากทะเลจีนตะวันออกถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้พายุลูกใหญ่อ่อนล้าลงเรื่อยๆ ยิ่งเร่งก็ยิ่งเร็ว.. |
3
4
5
6
7
ดาวเทียม Suomi NPP ของ NASA-NOAA ดาวเทียม TRMM, ดาวเทียม TERRA ของนาซา และดาวเทียม MTSAT 1-2 ของญี่ปุ่น ส่งทั้งภาพถ่ายทั้งข้อมูลจำนวนมากสู่สถานีเบื้องล่าง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รู้รายละเอียดต่างๆ ของพายุใหญ่แต่ละลูก เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันอุบัติภัยสำหรับคนจำนวนหลายล้าน แต่เบื้องหลังของปรากฏการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นฝีมือพระหัตถ์แห่ง “พระแม่ธรรมชาติ” ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ดีหรือร้าย. . |
8
9
10
11
12
เพียงแค่ 24 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ทะเลอ่าวไทยยังเป็นปลายทางสุดท้ายของพายุโซนร้อนลูกใหญ่ แผนภูมิพยากรณ์โดย JTWC ของกองทัพเรือสหรัฐฯ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของ Earth Wind ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในช่วงวันสองวันมานี้ กดหัวไต้ฝุ่นฮากูปี๊ตจนไม่สามารถเงยขึ้นได้ อายุของมันหดสั้นลง และการเดินทางไกล 10 วัน ใกล้จะสิ้นสุดลงไม่เกิน 48-70 ชั่วโมงข้างหน้า แผนภูมิฯ ของสำนักต่างๆ ที่ออกในบ่ายวันอังคาร 9 ธ.ค.นี้ชี้ไปยังฝั่งทะเลภาคใต้เวียดนาม. |
13
14
15
16
17
18