เอเอฟพี - ประธานรัฐสภาพม่า เผยว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งระบุห้าม นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2558
ความคิดเห็นของฉ่วย มาน มีขึ้นไม่กี่วันหลังการเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนความพยายามของซูจี ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ
ประธานรัฐสภาพม่า กล่าวว่า การลงประชามติทั่วประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.2558
“เราไม่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันทีหลังการลงประชามติ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้มาตราในรัฐธรรมนูญในเวลานี้” ฉ่วย มาน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงเนปีดอ
เมื่อวันจันทร์ (17) ทหารพม่าได้แสดงความเห็นคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งมาตรา 59f ที่ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่ากำหนดขึ้นเพื่อขัดขวางซูจี
สมาชิกสภานิติบัญญัติจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่หลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2558 แต่อองซานซูจี นั้นไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวได้เพราะรัฐธรรมนูญระบุห้ามผู้ที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งอดีตสามี และบุตรชายสองคนของซูจีเป็นชาวอังกฤษ
การเลือกตั้งในปีหน้าถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของการปฏิรูปที่เริ่มขึ้นในปี 2554 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารก้าวลงจากอำนาจ เปิดทางให้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่ยังคงเต็มไปด้วยอดีตนายทหาร
ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคเข้าร่วมต่อสู้ในการเลือกตั้งที่กวาดชัยชนะไปได้เมื่อปี 2533 อย่างไรก็ตาม พรรคปฏิเสธที่จะส่งชื่อผู้สมัครรายอื่นแทนหากไม่สามารถเสนอชื่อ ซูจี ลงรับเลือกได้
มิน ทู สมาชิกรัฐสภาของพรรค NLD กล่าวว่า พรรคยังคงมีความหวังว่า ซูจี จะสามารถเป็นประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้ง
“หากประชาชนแสดงความต้องการมากพอ ทุกอย่างก็เป็นจริงได้ แต่อะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความต้องการของประชาชน” มิน ทู กล่าว
อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ประกาศต่อสาธารณะว่า ประสงค์จะทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ได้กล่าวต่อประธานาธิบดีโอบามา เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย และเตือนว่า การปฏิรูปของพม่าส่วนใหญ่นั้นหยุดชะงัก
ด้านผู้นำสหรัฐฯ ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่บ้านพักริมทะเลสาบของซูจีว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องสะท้อนถึงการผนวกรวมเข้าด้วยกันมากกว่าการกีดกัน
ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ปัจจุบันครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา เป็นสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่จากการปกครองของทหารเพื่อรับประกันว่ากองทัพจะยังคงครองอำนาจอยู่ และภายใต้มาตรา 436 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ ในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้เสียงข้างมากเกินกว่าร้อยละ 75 ของรัฐสภา ซึ่งทำให้คำตัดสินสุดท้ายนั้นตกอยู่ที่ทหาร
ระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (17) พ.อ.ไต นาย ปฏิเสธว่า รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นเพื่อขัดขวางซูจี โดยระบุว่า ยังไม่ใช่เวลาที่จะแก้ไขมาตรา 436 ขณะที่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ทหารไม่ต้องการให้ ซูจี มีโอกาสที่จะเป็นประธานาธิบดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่ารายหนึ่งระบุว่า กองทัพแสดงความชัดเจนมานานแล้วว่าไม่สนับสนุนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และจุดยืนนี้จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป
ฉ่วย มาน อดีตนายพลที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า มีความประสงค์ที่จะลงรับเลือกประธานาธิบดี กล่าวว่า เขายินดีให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 59f เพราะการแก้ไขมาตราดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพื่อช่วยซูจี
“ผมต้องการให้ประชาชนทุกคนได้สิทธิอย่างเต็มที่ เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นของบุคคลที่สามารถทำงานเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน และของประเทศ” ฉ่วย มาน กล่าว.