xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ คลายมาตรการห้ามขายอาวุธร้ายแรงให้เวียดนามเสริมความมั่นคงทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สัมผัสมือกับ ฝ่าม บิ่ง มีง รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ก่อนหารือที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน วันที่ 2 ต.ค. ในโอกาสนี้แคร์รี่ ได้เปิดเผยกับฝ่ายเวียดนามว่า สหรัฐฯ ตัดสินใจยกเลิกมาตรการห้ามขายอาวุธรุนแรงบางส่วนให้กับเวียดนามเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางทะเล.--Reuters/Yuri Gripas.</font></b>

รอยเตอร์/เอพี - สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกบางส่วนในมาตรการห้ามขายอาวุธร้ายแรงให้แก่เวียดนาม วานนี้ (2) เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางทะเลของเวียดนามในสัญญาณของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นระหว่างอดีตศัตรูสงครามคู่นี้

ความเคลื่อนไหวที่มีวัตถุประสงค์จะสนับสนุนความสามารถของเวียดนามในการป้องกันตนเองในทะเลจีนใต้ ที่ชาติสมาชิกเอเชียเผชิญต่อการรุกรานที่ขยายตัวมากขึ้นของจีน

จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งต่อ นายฝ่าม บิ่ง มีง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ถึงการตัดสินใจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ในระหว่างที่ทั้งคู่พบกันที่กรุงวอชิงตัน

เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ จะอนุญาตให้มีการจำหน่ายอาวุธเพื่อเสริมความสามารถด้านความมั่นคง และเพื่อตรวจตราทางทะเลตามคำร้องจากเวียดนามโดยจะพิจารณาเป็นกรณีๆ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า การจำหน่ายอาจรวมทั้งเรือ และสินทรัพย์ทางอากาศ ภายใต้การหารือกับเวียดนาม และประเมินถึงความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาชายฝั่งของเวียดนาม

ด้านแหล่งข่าวในสหรัฐฯ ระบุว่า จากการตัดสินใจนี้ทำให้ในที่สุดวอชิงตันจะสามารถขายเครื่องบิน P-3 โอไรออน ของบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน เพื่อนำเครื่องบิน P-8A ที่ใหม่กว่าของบริษัทโบอิ้งเข้าประจำการแทนที่

ซากี กล่าวว่า การตัดสินใจนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่จีน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่พอใจต่อความเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งปักกิ่งจับตาการมีส่วนร่วมทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชีย ว่าเป็นความพยายามที่จะยับยั้งอำนาจ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการห้ามขายอาวุธเป็นผลจากการปรับปรุงประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเวียดนาม ที่รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง 11 คน ในปีนี้ และความคืบหน้าด้านเสรีภาพทางศาสนา แม้ความเคลื่อนไหวนี้จะริเริ่มจากเหตุผลด้านความมั่นคงก็ตาม

ฮิวแมนไรท์วอช ออกมาคัดค้านการผ่อนคลายมาตรการห้ามขายอาวุธครั้งนี้ทันที โดยระบุว่า เวียดนามไม่สมควรที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งจอห์น ซิฟตัน โฆษกขององค์กรกล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับนักโทษการเมืองของเวียดนามยังคงเลวร้าย และย่ำแย่ลง โบสถ์วิหารจำนวนมากยังไม่สามารถลงทะเบียนอย่างเป็นทางกา รและยังอยู่ในสถานะผิดกฎหมาย

เวียดนาม เป็นประเทศระบบพรรคเดียวที่ปราบปรามผู้เห็นต่าง และองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า ยังมีผู้เห็นต่างกับรัฐจำนวนมากถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ซากี กล่าวว่า เวียดนามจำเป็นต้องดำเนินการอีกมากเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และสหรัฐฯ จะยังคงประเมินความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเวียดนาม

สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งอาวุธร้ายแรงให้แก่เวียดนามนับตั้งแต่คอมมิวนิสต์ยึดครองอำนาจในช่วงท้ายสงคราม และมาตรการห้ามขายอาวุธมีขึ้นเนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม เข้าสู่สภาวะปกติในปี 2538 ราว 20 ปี หลังสงครามสิ้นสุดลง วอชิงตัน อนุมัติขายอาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในปี 2549 และความสัมพันธ์เริ่มแน่นแฟ้นขึ้นนับแต่นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลของโอบามา ได้พยายามที่จะขยายการมีส่วนร่วมในภูมิภาคเอเชีย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวในวันพฤหัสบดี (2) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขยายความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพิ่มความมั่นคงทางทะเลของตัวเอง

เมื่อเดือน ธ.ค.2556 ระหว่างการเยือนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคร์รี่ ประกาศให้ความช่วยเหลือ 18 ล้านดอลลาร์ ต่อเวียดนามในการจัดหาการป้องกันชายฝั่งด้วยเรือลาดตระเวนเร็ว 5 ลำ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอีกชาติหนึ่งที่อ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้ ในการตรวจตรา และลาดตระเวนในน่านน้ำของตัวเอง

แม้จะมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างพรรครัฐบาลของเวียดนาม และจีน แต่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ หลังจีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าใกล้หมู่เกาะพาราเซลที่เป็นข้อพิพาท เรือจากทั้งสองฝ่ายเข้ากระแทกกันหลายครั้งใกล้กับแท่นขุดเจาะ การเผชิญหน้าส่งผลให้เกิดเหตุประท้วงต่อต้านจีน และเหตุจลาจลในเวียดนาม

ในเวลานี้ รัสเซีย เป็นแหล่งอาวุธหลักของเวียดนาม ที่ได้จัดสรรงบประมาณหลายร้อยล้านดอลลาร์สร้างเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทะเลของประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น