ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตในรัสเซียยังคงรักษารูปลักษณ์คลาสสิกของ AK-47 กับ SKS-45 อย่างมั่นคงตลอดมา นักเล่นปืนในโลกตะวันตก ได้คิดค้นหาวิธีทำให้ปืนแห่งตำนานทั้งสองแบบ เป็นปืนที่ดูทันสมัยเหมือนปืนยุคใหม่ สวยงาม น่าจับต้องและสะดวกในการพกพา-นำพา ยิ่งกว่าเดิม และ เรื่องนี้ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ นับตั้งแต่มีการประดิษฐ์ "ชุดแต่ง" สำหรับอาก้ากับเซกาเซ ออกสู่ตลาด
เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนรูปแปลงโฉม ปืนไรเฟิล 2 รุ่น ที่มีอำนาจอิทธิพลมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะเป็นอาวุธที่อยู่เบื้องหลังในการทำสงคราม การปฏิวัติ-ปฏิรูป และ การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมืองและการทหาร ในหลายประเทศทั่วโลก ผูกพันกับเอกราชและอธิปไตยของหลายประเทศ ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
อาก้าผลิตโดยบริษัทคาลาสนิคอฟแห่งสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน ที่กลายมาเป็นบริษัทอิซมาช (Izhmash) ของรัสเซียในปัจจุบัน ออกแบบในช่วงปี 1946-47 โดยมิคาอิล คาลาสนิคอฟ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Automat Kalashnikov หรือ "ปืนอัตโนมัติของคาลาสนิคอฟ" อันเป็นที่มาของชื่อย่อ AK หรือ "อา-กา" ในภาษารัสเซีย
เซกาเซ ผลิตออกมาก่อนอาก้า และ ใช้ประจำการในกองทัพโซเวียตมาก่อนหลายปี ทำออกมาโดยบริษัทผลิตอาวุธของรัฐบาลอีกแห่งหนึ่ง เซอร์เก กาวริโลวิช สิโมนอฟ (Sergei Gavrilovich Simonov) เป็นผู้ออกแบบเมื่อปี 1943 แล้วเสร็จในปี 1945 ภายใต้โครงการที่ชื่อ Samozaryadnyj Karabin Sistemy Simonova หรือ "ปืนคาร์บินที่โหลดกระสุนได้เองของสิโมนอฟ" อันเป็นที่มาของชื่อย่อ SKS ซึ่งต่อมามีการเติมปี ค.ศ. ต่อท้ายเข้าไปให้เป็น SKS-45 เพื่อให้ดูง่ายขึ้น หลังจากผลิตเป็นรุ่นย่อยออกมาอีกหลายรุ่น
ปืนทั้งสองรุ่นใช้หลักการเดียวกันคือ ทำงานโดยใช้แรงอัดของแก๊ส จากกระสุนที่ยิงออกไปนัดแรกเพื่อคัดปลอกกระสุนทิ้ง และ ดึงกระสุนนัดใหม่เข้าสู่รังเพลิงในขณะเดียวกัน ก่อนเหนี่ยวไก หรือ กดไกค้างไว้ เพื่อยิงออกไปอีกตามโปรแกรมที่เลือกล่วงหน้า ทั้งอาก้าและเซกาเซ ยังใช้กระสุนขนาดเดียวกันคือ 7.62x39 มม. อันเป็นมาตรฐานของสหภาพโซเวียตกับค่ายยุโรปตะวันออกเมื่อก่อน
ปืนทั้งสองชนิดถูกนำออกไปผลิตในหลายประเทศนอกโซเวียต รวมทั้งในจีน (แบบ 56) เกาหลีเหนือ (แบบ 63) และ ในเวียดนามซึ่งมีชื่อเรียกของตนเอง
เซกาเซประจำการในระยะเวลาสั้นๆ และ มีผลิตออกมาราว 15 ล้านกระบอก ส่วน AK-47 ที่โซเวียตนำเข้าใช้งานแทนในปี 1949 นั้นยังผลิตมาจนถึงปัจจุบัน ในหลายประเทศและทำออกมาหลายรุ่นย่อย รวมจำนวนประมาณ 75 ล้านกระบอกทั่วโลก ทั้งนี้เป็นตัวเลขอัปเดทล่าสุด ในเว็บไซต์ของอิซมาช
.
2
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเซกาเซ จะใช้อยู่ในกองทัพโซเวียตกับกลุ่มประเทศบริวารไม่นานนัก แต่ก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน หลายประเทศรวมทั้งรัสเซียและจีน ยังคงใช้ SKS หรือ Type 56 ในงานพิธีสำคัญๆ ต่างๆ ของกองทัพ
สำหรับนักสะสมทั่วไปและคนรักปืนผาหน้าไม้ทั่วโลก เซกาเซยังเป็นสุดยอดแห่งไรเฟิลอีกรุ่นหนึ่งตลอดมา ทั้งในภาคพื้นยุโรป ไปจนถึงสหรัฐ แคนาดา แม้กระทั่งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ที่อยู่ไกลโพ้น ผู้คนต่างชื่มชมในการออกแบบที่เป็น "ปินเล็กยาวจริงๆ" รูปลักษณ์สวยงาม มีความแม่นยำสูงกว่า AK-47 เนื่องจากลำกล้องยาวกว่า ระบบศูนย์ที่ปรับได้ลึกและไกลกว่า คือ ปรับระยะยิงได้ตั้งแต่ 100-1,000 เมตร เทียบกับ 100-800 เมตรในอาก้า
ในสหรัฐมีผู้ซื้อสิทธิบัตรจากบริษัทนอรินโค (Norinco) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธของรัฐบาลจีนไปผลิตในสหรัฐ แต่ถึงกระนั้นเซกาเซรุ่นเก่าๆ พานท้ายทำด้วยไม้ รูปทรงคลาสสิก ก็หาซื้อได้ไม่ยากในตลาด ในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึง เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของอาก้าอยู่แล้ว จึงมักจะมีเซกาเซเป็นสมบัติสุดหวงพ่วงไปอีกหนึ่งกระบอกด้วย
ในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะ "แต่งซิ่ง" ปืนทั้งสองรุ่นนี้ ให้หล่อเฟี้ยวในรูปทรงบุลพับ (Bullpub) หรือ ไรเฟิลที่มีชุดเหนี่ยวไก ติดตั้งอยู่ข้างหน้าซองบรรจุกระสุน
ชุดแต่งของ AK-47 และ SKS-45 เป็นคนละชุดกัน แต่ราคาใกล้เคียงกัน คือราว 500 ดอลลาร์ ซึ่งแพงกว่าราคาปืนเสียอีก แต้ข้อดีก็คือทำให้ได้ "ปืนใหม่" อีกหนึ่งกระบอก และ ถ้าหากรู้สึกเบื่อๆ ขึ้นมาเมื่อไร ก็สามารถเปลี่ยนคืนไปเป็นโหมดคลาสสิกเหมือนเดิมได้ทันที เพียงคลายสกรูน๊อตไม่กี่ตัวเท่านั้น
สำหรับเซกาเซ ถ้าหากจะแต่งให้ดู "เดิ้ล" ยิ่งขึ้น ก็จะต้องทำให้สามารถเสียบซองบรรจุกกระสุนแบบอาก้าได้ด้วย โดยจ่ายเพิ่มอีก 100 ดอลลาร์ ทั้งนี้ก็เนื่องจาก ต้นแบบคาสสิก SKS ออกแบบมาให้บรรจุกระสุนทีละนัดๆ ด้วยมือ โดยมี "รังกระสุน" ที่บรรจุได้เพียง 10 นัด ไม่ว่าจะบรรจุจากสันบน หรือด้านล่างของปืนก็ตาม เวลาต่อมามีการผลิตซองอัตโนมัติ ทำให้บรรจุได้ 10 นัดพร้อมๆ กัน แต่กระสุน 10 นัด ย่อมหมายความว่า เหนี่ยวไกยิงออกไป 3 ชุดก็หมดแล้ว ขณะที่แม็กกาซีนแต่งซิ่งบรรจุกระสุนได้มากขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 20 นัด
.
.
แล้วทำไมต้อง "บุลพับ"? ก็เพราะว่าบุลพับเป็นไรเฟิลรูปทรงใหม่ ชุดแต่งจะทำให้อาก้าหรือเซกาเซสั้นลง 9-10 นิ้ว ขณะที่ลำกล้องยังยาวเท่าเดิม ทำให้พกพา-นำพาง่ายขึ้น และ ยังรักษาคุณสมบัติดีเด่นเอาไว้อย่างครบถ้วน ปืนสั้นลงเพราะถอดพานท้ายของเก่าออกไป ด้ามจับที่อยู่ด้านหน้าของชุดแต่ง ทำให้จับยึดได้มั่นคง ปืนกระชับกับลำตัวได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเล็งและการลั่นกระสุน
ชุดแต่งยังทำให้สามารถติดกล้องช่วยเล็งบนสันปืน และติดอุปกรณ์กำเนิดแสงเลเซอร์ที่ส่วนล่างของด้านหน้าปืนได้อีกด้วย เนื่องจากปืนรุ่นคลาสสิก ไม่มี "รางพิคาตินนี" หรือรางสำหรับติดอุปกรณ์พวกนี้
การนำอาก้ากับเซกาเซมาแต่งหน้าทางปาก จนแปลกแหวกวงตระกูลนั้น ไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ยังทำให้เกิดข้อด้อย 2-3 ประการด้วยกัน แรกสุดเลยก็คือ เมื่อปืนสั้นลง ระยะเล็งก็หดลงด้วย เมื่อปรับระยะยิงกับศูนย์หน้าได้สั้นลง ความแม่นยำของไรเฟิลก็ลดลง ตามข้อมูลของสมาคมนักยิงปืนสมัครเล่น และ สมาคมนักล่าสัตว์แห่งสหรัฐ "อาก้าบุลพับ" จะปรับระยะยิงที่ศูนย์ได้เพียง 100-200-300 เมตรเท่านั้น หายไป 400-500 เมตร
จุดด้อยที่ด้อยที่สุดก็คือ ทั้งอาก้าและเซกาเซบุลพับ ไม่ใช่ปืนสำหรับคนถนัดซ้าย ทั้งสองรุ่นทำคันชักลูกเลื่อน กับช่องคัดปลอกกระสุนเอาไว้ด้านขวามือตายตัว เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อพานท้ายหายไป เวลายิงปืนคันชักก็จะคลื่อนไหวไปมาอยู่ติดกับแก้ม ปลอกกระสุนก็จะปลิวว่อนออกมาในตำแหน่งเดียวกัน ทำให้คนถนัดซ้ายหมดโอกาส
หลายคนบอกว่าชุดแต่งของอาก้า ทำให้เปลี่ยนซองบรรจุกระสุนขนาด 30 นัดที่ยาวโง้งเป็นไปอย่างลำบากยิ่ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้ต้องแบ่งไปให้กับด้ามของชุดเหนี่ยวไก ที่ย้ายไปวางไว้ข้างหน้า และ ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัญหานี้ในเซกาเซ แต่หลายคนบอกว่า ชุดแต่งทำให้จับยึดส่วนหน้าของปืนไม่ถนัดเหมือนเดิม ยิ่งตัวโตก็ยิ่งลำบาก ฯลฯ
แต่ทั้งนี้ นอกจากสหรัฐก็มีอีกไม่กี่ประเทศ ที่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปมีปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติแบบอาก้ากับเซกาเซไว้ในครอบครอง เพราะทันทีที่มี 2 ชื่อนี้ปรากฏ ในหลายประเทศจะรีบตีตราเป็น "อาวุธสงคราม" ทีนที เราท่านๆ ที่อยูในย่านนี้ของโลกก็จึงต้องร้องเพลง .. ได้แต่มอง.
.
แต่งให้หล่อ Armslist.Com
3
4
5
6
7
8
9
10
11