เอเอฟพี – สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียอย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นในวันนี้(12) แม้มอสโกจะขู่ตอบโต้อย่างสาสม และเตือนว่าท่าทีของยุโรปอาจบั่นทอนแผนสันติภาพในยูเครนก็ตาม
บทลงโทษล่าสุดของ อียู มุ่งปิดกั้นไม่ให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ ผู้ผลิตอาวุธ และสถาบันการเงินที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของ สามารถเข้าถึงตลาดยุโรปได้ นอกจากนี้ยังประกาศขึ้นบัญชีดำพลเมืองรัสเซียอีก 24 คนซึ่งจะถูกอายัดทรัพย์สินและห้ามเดินทางเข้ายุโรป โดยหลายคนเป็นผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน
คำสั่งคว่ำบาตรล่าสุดที่อียูใช้กับรัสเซียเพื่อตอบโต้การผนวกแหลมไครเมียเมื่อเดือนมีนาคม มีผลบังคับหลังจากที่ประกาศลงในวารสารทางการของสหภาพยุโรป (EU’s official journal)
รอสเนฟต์ และ ทรานสเนฟต์ สองบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย รวมไปถึงหน่วยผลิตปิโตรเลียมของบริษัท ก๊าซปรอม ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งคว่ำบาตรของยุโรป ซึ่งยังมุ่งขัดขวางโครงการสำรวจน้ำมันบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกของรัสเซียด้วย
บริษัท ยูไนเต็ด แอร์คราฟต์ คอร์ปอเรชัน ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ MiG และ Sukhoi, ผู้ผลิตรถถัง Uralvagonzavod และบริษัท Oboronprom ซึ่งเป็นบริษัทอากาศยานที่รัฐบาลรัสเซียถือหุ้นอยู่ ก็พลอยได้รับผลกระทบเช่นกัน
Kalashnikov ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธเบา ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัทรัสเซียที่ยุโรปงดจำหน่ายเทคโนโลยีทางการทหารให้
พลเมืองรัสเซียและยูเครนที่ถูกขึ้นบัญชีดำรอบนี้ ได้แก่ บรรดาผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน และ เซอร์เกย์ เชเมซอฟ ประธานรัฐวิสาหกิจรอสเท็ก (Rostec) ซึ่งถือเป็น “บุคคลใกล้ชิด” ของประธานาธิบดีรัสเซีย เพราะเคยเป็นอดีตสายลับเคจีบีที่ปฏิบัติภารกิจในภาคตะวันออกของเยอรมนีเมื่อทศวรรษ 1980 เช่นเดียวกับ ปูติน
สหภาพยุโรปอนุมัติคำสั่งคว่ำบาตรรัสเซียวานนี้(11) หลังเกิดข้อถกเถียงกันมาตลอดสัปดาห์ว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลงโทษรัสเซียเพิ่มเติม ในเมื่อฝ่ายกบฏและกองทัพยูเครนได้ทำข้อตกลงหยุดยิงแล้ว
เฮอร์มาน แวน รอมปุย ประธานสภายุโรป (European Council) ระบุว่า มาตรการลงโทษรัสเซียอาจถูกยกเลิก หลังจากมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของข้อตกลงหยุดยิงในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้
รัสเซียถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหภาพยุโรป และหลายๆประเทศในยุโรปตะวันออกก็ต้องพึ่งพาทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากมอสโกเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้