xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเยอรมนีให้คำมั่นสนับสนุนเศรษฐกิจพม่าพร้อมจับตาเลือกตั้งปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (ขวา) และประธานธิบดีเต็งเส่ง แถลงข่าวร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการหารือ ในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 3 ก.ย.-- Agence France-Presse/Odd Andersen.</font></b>

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจพม่า หากพม่าจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมในปีหน้า และดำเนินมาตรการที่ช่วยคุ้มครองชนกลุ่มน้อยมากขึ้น

หลังการหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง แมร์เคิล กล่าวในการแถลงข่าวร่วมว่า เยอรมนีพร้อมที่จะส่งเสริมการลงทุน และความช่วยเหลือด้านการพัฒนา แต่จะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า

“พม่าเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สันติภาพเป็นสิ่งจำเป็น และสันติภาพนั้นต้องการการประนีประนอม และความอดทนต่อชนกลุ่มน้อย” แมร์เคิล กล่าว

ผู้นำเยอรมนี ยังชื่นชมความคืบหน้าของการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่เยอรมนียังคงเฝ้าดูการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2558

“เราแสดงความหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส เยอรมนียังมุ่งเน้นไปที่ความช่วยเหลือต่อพม่าในการยกเครื่องระบบการศึกษาของประเทศ และความช่วยเหลือต่อกิจการขนาดเล็ก และขนาดกลางในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์” แมร์เคิล กล่าวถึงการหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ถือเป็นประธานาธิบดีพม่าคนแรกที่เดินทางเยือนเยอรมนีในรอบ 3 ทศวรรษ ได้กล่าวย้ำว่า พม่าอยู่บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

“แม้ในเวลานี้เราจะมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่เราก็สามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปได้โดยไม่มีการนองเลือด” เต็งเส่ง กล่าว พร้อมระบุว่าจะสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศก่อนการเลือกตั้งหากฝ่ายค้านได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงประชามติ

เหตุปะทะรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ผู้คนกว่า 140,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ต้องอยู่ในค่ายผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่บริการขั้นพื้นฐานเข้าถึงน้อยมาก ความรุนแรงปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ทั่วประเทศ และครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ

นักเคลื่อนไหวได้กล่าวหารัฐบาลพม่าว่า เดินถอยหลังในการปฏิรูปสื่อ ด้วยการออกกฎหมายสื่อที่คลุมเครือ และดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวท้องถิ่นหลายคน

ด้าน นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเคยกล่าวเตือนระหว่างเยือนกรุงเบอร์ลิน เมื่อเดือน เม.ย.ว่า แม้พม่าจะดำเนินการปฏิรูปแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นประชาธิปไตย.
กำลังโหลดความคิดเห็น