ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการนครด่าหนัง ได้สั่งให้บริษัทเอกชนห้างร้าน และสถานบริการต่างๆ ปลดป้ายชื่อ ป้ายที่เป็นภาษาจีนขนาดใหญ่ทุกชนิดตลอดแนวถนนสายสำคัญ 3 สายที่ขนานชายฝั่งทะเลจีนใต้คือ ถนนหว่างซา (Hoang Sa) ถนนเจื่องซา (Truong Sa) กับถนนหวองเวียนย้าป (Vo Nguyen Giap) ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อ ป้ายประกาศ หรือแผ่นป้ายโฆษณาใดๆ ก็ตาม โดยให้เปลี่ยนเป็นป้ายที่เขียน หรือพิมพ์ด้วยภาษาเวียดนามแทนทั้งหมด ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และด้านจิตวิทยา
นับเป็นระลอกที่สองในการรณรงค์ใหญ่ให้มีการถอดชื่อสถานที่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สถานบริการ และอื่นๆ ที่เป็นภาษาจีน หลังจากเมื่อปี 2555 ทางการได้รรณรงค์ให้ผู้คนทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างแดนหยุดเรียกชื่อหาดทรายท่องเที่ยวของนครด่าหนังว่า “หาดจีน” (China Beach) ที่เรียกกันมายาวนานนับชั่วอายุคน
ตามรายงานของสื่อทางการคณะกรรมการประชาชนนครด่าหนัง ได้มีการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยนายเจิ่นวันเถาะ (Tran Van Tho) รองประธานคณะกรรมการประชาชน (รองผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นประธาน โดยมีหัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของนครใหญ่ภาคกลางแห่งนี้เข้าร่วมด้วย
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีการศึกษารายงานเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันซึ่งมีการขึ้นป้ายชื่อ ป้ายประกาศ และป้ายโฆษณาเป็นภาษาจีนอย่างมาก หลังจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ชาวจีนได้กลายเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไปเยี่ยมเยือนเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีชื่อเสียงมานานนับศตวรรษแห่งนี้
“การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนคร แต่ประเด็นทางด้านความมั่นคงก็จะละเลยไม่ได้เช่นกัน” หนังสือพิมพ์ซเวินเหวียด (ประชาชนเวียดนาม) รายงานในเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ อ้างคำพูดของนายฮุงหวี่ง (Hung Huynh) ผู้อำนวยการวิทยุและโทรทัศน์นครด่าหนัง
ถนนหว่างซา ตั้งชื่อตามหมู่เกาะหว่างซา หรือ “พาราเซล” (Paracel) ซึ่งเวียดนามายังถือว่าเป็นของตน และขึ้นอยู่กับเขตปกครองนครด่าหนัง
หมู่เกาะปะการังแห่งนี้อยู่ห่างออกไปในทะเลจีนใต้เผชิญกับ “หาดจีน” เมื่อก่อน ซึ่งก่อนหน้าปี พ.ศ.2515 ทั้งเวียดนาม และจีนได้ส่งทหารเข้ายึดครองคนละส่วน จนกระทั่งปี 2517 ในขณะที่เวียดนามฝ่ายเหนือ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม) กำลังติดพันกับสงครามในภาคใต้นั้น จีนได้ส่งกำลังเข้าขับไล่ทหารเวียดนามใต้ (สาธารณรัฐเวียดนาม) ซึ่งออกจากหมู่เกาะแห่งนี้ และครอบครองแต่เพียงฝ่ายเดียวตั้งแต่นั้น
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทางการเกาะไหหลำได้ประกาศจัดตั้ง อ.ซานซา (Sansha District) ขึ้นมาเพื่อผนวกเกาะพาราเซลทั้งหมดเข้าในเขตปกครอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเวียดนามกับเสียงกล่าวประณามจากทางการไต้หวัน ซึ่งกล่าวอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะแห่งนี้เช่นกัน ปัจจุบันทั้งไต้หวัน และเวียดนามยังถือว่าหมู่เกาะปะการังแห่งนี้เป็นดินแดนพิพาท
ส่วนถนนเจื่องซา ตั้งชื่อตามชื่อหมู่เกาะเจื่้องซา หรือ “สแปร็ตลีย์” ที่อยู่ใต้ลงไป ซึ่งเวียดนามครอบครองดินแดนส่วนใหญ่มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 จนถึงปัจจุบัน แต่หลายปีมานี้จีนได้ประกาศใช้แผนที่ฉบับใหม่กล่าวอ้างเอาอาณาบริเวณทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นน่านน้ำของตน และประกาศครอบครองหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ในขณะที่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมทั้งบรูไน ต่างประกาศเป็นเจ้าของบางส่วนในหมู่เกาะ
.
.
สำหรับนครด่าหนัง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับหมู่เกาะพาราเซลนั้น ปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่จีนเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทห้างร้าน สถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไปผุดป้ายภาษาจีนขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่า ส่งผลทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก
รองประธานคณะกรรมการประชาชนของนครกล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้านครด่าหนัง ปัจจุบันเป็นชาวจีนถึงร้อยละ 90 ดังนั้น ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยคือ ตำรวจ รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมฯ จะต้องหามาตรการรับมมือกับปัญหาด้านการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้และต้อง “จัดการกับความผิดพลาด และทำให้ถูกต้อง”
การสำรวจถนนสำคัญทั้ง 3 สายในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วได้พบว่า มีบริษัทเอกชน ห้างร้าน และสถานบริการต่างๆ เป็นจำนวนมากขึ้นป้ายที่มีอักษรภาษาต่างประเทศขนาดใหญ่กว่าอักษรเวียดนาม ยังมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่จำนวนมากเขียนด้วยภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งนายเจิ่นจี๊เกือง (Tran Tri Cuong) รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมฯ นครกล่าวว่า เป็นการทำผิดกฎหมายโฆษณาอย่างชัดแจ้ง เป็นการกระทำที่มุ่งประโยชน์ทางธุรกิจการค้าโดยไม่คำนึงถึงผลในทางลบต่อสังคม
กฎหมายว่าด้วยการโฆษณาของเวียดนาม มีบทบัญญัติให้กรณีที่จะต้องใช้ทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาเวียดนามในการโฆษณาแจ้งความใดๆ พร้อมกัน อักษรภาษาต่างประเทศจะต้องมีขนาดไม่เกิน 3/4 ของอักษรภาษาเวียดนาม และต้องวางอยู่ใต้อักษรภาษาเวียดนามเท่านั้น
ซเวินเหวียด กล่าวว่า ไม่เฉพาะนครด่าหนังเท่านั้นที่ประสบปัญหา “ป้ายภาษาต่างประเทศ” นครกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศล้วนมีปัญหาเดียวกัน แต่ทุกๆ แห่งก็จัดการได้โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี
เมื่อปี 2555 ทางการเวียดนาม ได้สั่งปลดป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับ “ไชน่าบีช” (China Beach) หรือ “หาดจีน” ออกจากถนนทุกสาย และสั่งลบแผ่นป้ายโฆษณาทุกชิ้นในนครด่าหนังตั้งแต่ 2 ปีมาแล้ว และห้ามเรียกหาดทรายสวยงามด้วยชื่อนี้อีก ให้ใช้ชื่อเดิมที่เป็นภาษาเวียดนาม คือ หาดหมีเค (Bãi biển Mỹ Khê) ขณะนี้เวียดนามกำลังพยายามลบชื่อต้องห้ามนี้ออกจากแผนที่โลก
กระทรวงสารสนเทศและโทรคมนาคม ได้ทยอยแจ้งให้เว็บไซต์ท่องเที่ยวแห่งต่างๆ ลบชื่อ “ไชน่าบีช” ออกไป ไม่เช่นนั้นก็จะถูกปิด โดยให้เหตุผลว่า China Beach เป็นชื่อที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้คนที่ไปจากทั่วโลก ในขณะที่ชื่อภาษาเวียดนามแต่ดั้งเดิมนั้นมีอยู่แล้ว.