ซินหวา - ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพ และความมั่นคงในรัฐยะไข่ ที่อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ และดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรให้ประสบความสำเร็จ
ผู้นำพม่าแสดงความเห็นดังกล่าวระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับนายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ตามการเปิดเผยของทีมข้อมูลของรัฐบาล ในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (2)
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวกับนายบัน ว่า รัฐบาลพม่าได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการรักษาความปลอดภัย และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทุกคนของหน่วยงานสหประชาชาติ และองค์กรบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม หลังเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค.
รัฐบาลได้อพยพเจ้าหน้าที่ และพนักงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ออกจากเมืองซิตตะเว พร้อมทั้งรักษาความปลอดภัย และคุ้มครองบรรดาผู้ที่ประสงค์จะยังอยู่ในเมืองซิตตะเวต่อ
เต็งเส่ง ยังยืนยันต่อ นายบัน ว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนเหตุไม่สงบและจะดำเนินการต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมเผยว่า มีผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ 20 คน กำลังติดตามการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ที่จัดขึ้นตามมาตรฐานสากลด้วยความร่วมมือของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)
ประธานาธิบดีพม่า ยังได้กล่าวขอบคุณ นายบัน สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สหประชาชาติมอบให้ และกล่าวแสดงความปรารถนาที่จะยังคงร่วมมือกับสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศต่อการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เหตุจลาจลที่มุ่งโจมตีสำนักงาน และบ้านพักของหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างชาติ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 มี.ค. โดยสำนักงานของกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองซิตตะเวนั้น ประกอบด้วย ICRC, UNHCR และ WFP ต่างถูกกลุ่มผู้ชุมนุมชาวยะไข่หลายร้อยคนเข้าโจมตี
ความไม่สงบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีผู้ประสานงานหญิงคนหนึ่งนำธงศาสนาพุทธออกจากจุดที่ตั้งใกล้กับสำนักงานที่เธอทำงานอยู่ ซึ่งธงดังกล่าวถูกระบุว่า เป็นสัญลักษณ์ของการคว่ำบาตรการจัดสำรวจสำมะโนประชากรของรัฐบาล ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.
ทางการพม่าอ้างว่าได้อพยพเจ้าหน้าที่ต่างชาติของสหประชาชาติ และองค์กร NGO ทั้งหมด 38 คน และยังมีเจ้าหน้าที่เหลืออีก 29 คน อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของทางการ ขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐยะไข่ ได้ประกาศเคอร์ฟิวในเมืองซิตตะเว ช่วงคืนวันที่ 27 มี.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงแพร่ลามเพิ่มเติม
รัฐบาลพม่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 5 คน นำโดยรัฐมนตรีกิจกรมพรมแดน เข้าสอบสวนเหตุการณ์ และคณะกรรมการชุดนี้มีกำหนดรายงานต่อประธานาธิบดีในวันที่ 7 เม.ย. นี้
ความตึงเครียดในรัฐยะไข่ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการสำรวจสำมะโนประชากรซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี แต่จนถึงเวลานี้ ชุมชนชาวยะไข่ ได้ยุติคว่ำบาตรการสำรวจสำมะโนประชากร หลังเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการสำรวจในรัฐยะไข่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไม่รับการระบุโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์หนึ่งของพม่า.