ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เวียดนามนำเรือนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City, HQ-183) เข้าจอดในอ่าวใกล้ฐานทัพเรือกามแรง (Cam Ranh) ใน จ.แค้งหว่า (Khanh Hao) คืนวันพุธ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเจตนาที่จะหลบเลี่ยงสายตาของอริ แต่ก็ไม่พ้นสายตาของช่างภาพสื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ห่างๆ
สื่อออนไลน์ภาษาเวียดนามกล่าวว่า ภาพทั้งหมดถ่ายจากระยะไกล และถ่ายจากพื้นที่นอกเขตหวงห้าม รวมทั้งไม่ได้แสดงรายละเอียดใดๆ ซึ่งไม่ได้ผิดข้อห้าม
สื่อของทางการกล่าวว่า เรือนครโฮจิมินห์ ที่ขนส่งจากนครเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย โดยเรือโรลด็อกต์สตาร์ (Rolldock Star) เดินทางถึงน่านน้ำเวียดนามตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ 16 มี.ค. ช้ากว่ากำหนดเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากต้องแล่นอ้อมเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ไปผ่านช่องแถบซุนดา (Sunda Strait) ทะลุเข้าทะเลชวา ก่อนวกขึ้นเหนือไปยังท่าเรือสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง ต่างไปจากแผนการเดิมที่เรือขนส่งสัญชาติเนเธอร์แลนด์จะแล่นตรงจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ช่องแคบมะละกา
ยังไม่มีคำชี้แจงจากฝ่ายใดในขณะนี้ว่า เป็นเพราะเหตุใดเรือจึงจอดอยู่นอกอ่าวกามแรง (คัมราน) จนกระทั่งถึงวันพุธ แทนที่จะเคลื่อนเข้าสู่บริเวณอ่าวยุทธศาสตร์ในวันจันทร์ 17 มี.ค. ตามกำหนดเดิม
สื่อทางการรายงานว่า เรือโรลด็อกค์สตาร์จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางนำเรือดำน้ำเวียดนามแล่นอ้อมไปยังช่องแคบซุนดาที่อยู่ใต้ลงไปหลายร้อยกิโลเมตร ก็เนื่องจากไม่ประสงค์จะตกเป็นเป้าสายตาของเรือรบ กับเรือประเภทต่างๆ จำนวนกว่า 40 ลำ ที่กำลังออกค้นหาเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER สายการบินมาเลเซีย ในช่องแคบมะละกา รวมทั้งเรือรบจีน จำนวน 3 ลำ กับเรือสนับสนุนอีก 1 ลำ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการในช่องแคบยุทธศาสตร์แห่งนี้
เรือรบเหล่านั้นล้วนแต่เป็นนักล่าเรือดำน้ำชั้นยอด ถึงแม้ว่าเรือนครโฮจิมินห์ จะไม่ได้อยู่ใต้น้ำ แต่การปรากฏตัวต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเรือรบเหล่านั้นโดยตรงเท่ากับเป็นการเปิดเผยตัวตนอย่างตรงไปตรงมา และสร้างความคุ้นเคยให้แก่ฝ่ายอริ
นอกจากนั้น ก็ยังมี “ตาวิเศษ” บนท้องฟ้า ทั้ง P-8 โพไซดอน (Poseidon) และ P-3 โอไรออน (Orion) ซึ่งติดระบบอิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยังมีเฮลิคอปเตอร์ของหลายประเทศที่ออกปฏิบัติการค้นหา รวมทั้ง MH-60 ซีฮอว์ก (Sea Hawk) ที่ติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ค้นหา และทำลายเรือดำน้ำเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง P-3 นั้นเป็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำที่สร้างขึ้นมาเพื่อสงครามใต้น้ำ สหรัฐฯ ใช้ออกไล่ล่าเรือดำน้ำของโซเวียตมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1950-1980 เป็นศัตรูที่น่าเกรงขามที่สุดของเรือดำน้ำค่ายโซเวียต-รัสเซีย เกียนถึก (Kien Thuc Online) หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ภาษาเวียดนามกล่าว
.
แอบๆ หลบๆ อย่างไรก็ไม่พ้น เตี่ยนฝ็อม/เกียนถึกออนไลน์
2
3
4
5
6
เคล็ดลับของเรือดำน้ำก็คือ ความเงียบกับความลับ เพราะฉะนั้นเรือดำน้ำทุกลำต้องปรากฏตัวเท่าที่จำเป็น แม้แต่คาไลโดสโคป หรือหอคอยก็จะต้องไม่โผล่พ้นน้ำขณะแล่นในทะเลหลวง
เรือดำน้ำนครโฮจิมินห์ เดินทางถึงเวียดนามอย่างปิดลับ และปลอดภัยตามแผนทุกประการ จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลอง และทดสอบระบบต่างๆ รวมทั้งระบบอาวุธตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป เช่นเดียวกับที่เคยทดสอบเรือดำน้ำนครฮานอย (Hanoi City, HQ-182) ปลายปีที่แล้ว ก่อนจะมีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ เกียนถึก หรือ “ความรู้” กล่าว
ตามรายงานก่อนหน้านี้ อู่ต่อเรือแอดมิรัลตี (Admiralty Ship Yard) ในนครเซ็นปีเตอร์เบิร์ก ได้ปล่อยเรือดำน้ำลำที่ 3 ของเวียดนามลงน้ำในปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา คือ เรือนครหายฝ่อง (Hai Phong City, HQ-184) ซึ่งมีกำหนดส่งมอบปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
ตามรายงานของสื่อทางการรัสเซีย สัปดาห์หน้าอู่ต่อเรือแห่งเดียวกันได้ทำพิธีปล่อยเรือดำน้ำลำที่ 4 อีก 1 ลำ คือ เรือนครด่าหนัง (Danang City, HQ-185) ซึ่งมีกำหนดส่งมอบปี 2558 เช่นกัน 2 ลำสุดท้ายคือ เรือแค้งหว่า (Khanh Hoa, HQ-186) กับเรือบ่าเหรียะ-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tao, HQ-187) ส่งมอบภายในปี 2559
เวียดนามเซ็นสัญญาซื้อเรือทั้ง 6 ลำ จากรัสเซียในปลายปี 2552 ในแพกเกจใหญ่รวมมูลค่าราว 2,100 ล้านดอลลาร์ โดยไม่รวมมูลค่าระบบอาวุธ.