ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เรือดำน้ำลำที่ 2 ออกเดินทางสัปดาห์นี้มุ่งหน้าไปตามเส้นทางเดิมบนเรือลำเลียงขนส่งขนาดใหญ่สัญชาติเนเธอร์แลนด์ลำหนึ่ง ในการเดินทางที่จะใช้เวลาราวหนึ่งเดือนครึ่ง ผ่านทะเลในยุโรปเหนือสู่แอตแลนติก ลัดเลาะไปอ้อมแหลมแอฟริกา ผ่านมหาสมทุรอินเดีย ไปยังอ่าวกามแรง (Cam Ranh) ฐานทัพเรือใหญ่ในภาคกลางของเวียดนาม สำนักข่าวของทางการรัสเซียรายงาน
เรือดำน้ำนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City HQ-183) ออกจากอู่ต่อแอดมิรัลตี (Admiralteyskie Verfi) หรือ Admiralty Shipyard นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ช้ากว่ากำหนดเดิมอยู่ 2 วัน ออกสู่ทะเลบอลติก เข้าทะเลเหนือผ่านช่องแคบอังกฤษ เลียบชายฝั่งทวีปทวีปยุโรปลงใต้สู่ปลายสุดของทวีปแอฟริกา โดยมีวิศวกรชาวรัสเซีย จำนวน 6 นาย ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่สนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งติดตามไปด้วย สำนักข่าวอิตาร์ทัส (Itar-Tass) รายงาน
ในการนำส่งเรือดำน้ำลำแรกคือ เรือนครฮานอย (Hanoi City HQ-182)ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2556 เรือโรลด็อกค์ซี (Rolldock Sea) สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ใช้เวลาประมาณ 45 วันในการเดินทางไกลหลายหมื่นกิโลเมตรไปยังฐานทัพเรือใน จ.แค้งหว่า (Khan Hoa) และตามข้อมูลในเว็บไซต์ที่ติดตามการเดินเรือพาณิชย์ทั่วโลก สัปดาห์ปลายเดือน ม.ค.นี้ เรือโรลด็อกค์ซี ยังคงจอดอยู่ในย่านเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งจะไม่สามารถไปทำหน้าที่ขนส่งเรือดำน้ำนครโฮจิมินห์ได้ แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงเรือบรรทุกลำล่าสุด
หลังจากส่งมอบเรือดำน้ำลำที่ 2 ของเวียดนามแล้ว วิศวรผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียอีก 7 คน จะไปประจำการในเวียดนาม ซึ่งจะทำให้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 14 คน เพื่อติดตาม และคอยช่วยเหลือทางเทคนิคในกรณีจำเป็นต่างๆ ระหว่างที่เรือดำน้ำทั้ง 2 ลำของเวียดนามอยู่ประจำการ ทัสรายงาน
สำนักข่าวของทางการอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวระบุว่า ก่อนนำเรือดำน้ำลำที่ 2 ส่งมอบนั้น อู่แอมิรัลตี ได้ทำพิธีปล่อยลงน้ำเรือลำที่ 3 คือ เรือนครหายฝ่อง (Haiphong City HQ-184) ใน 11 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มต่อเรือลำที่ 4 คือ เรือนครด่าหนัง (Danang City HQ-185) ในวันที่ 28 มี.ค.นี้
ลำที่ 5 คือ เรือแค้งหว่า (Khan Hao City HQ-186) มีกำหนดในวันที่ 28 ธ.ค. และลำสุดท้ายคือบ่าเหรียะ-หวุงเต่า (Ba Ria Vung Tao City HQ-187) จะเริ่มต่อในเดือน ก.ค.2558 เป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง 2 ฝ่าย โดยรัสเซียจะส่งมอบให้เวียดนามครบทั้ง 6 ลำ ในปี 2559 ทัสรายงาน
เรือนครฮานอยเดินทางถึงเวียดนามเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทดสอบจริงในทะเลและทดสอบระบบอาวุธต่างๆ อีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนเวียดนามทำพิธีขึ้นระวางประจำการในกองพลน้อยเรือดำน้ำในวันที่ 15 ม.ค.ปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในย่านนี้ลงความเห็นว่า เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการดุลอำนาจการป้องกันทางทะเลในภูมิภาค
ทั้ง 6 ลำ เป็นเรือชั้นวาร์ชาฟยันกา (Varshavyanka) หรือ “โครงการ 636” หรือ เรือดำน้ำคิโล (Kilo-class) ในนิยามของกลุ่มนาโต้ ติดท่อยิงตอร์ปิโด 6 ท่อ ติดระบบจรวดนำวิถีความเร็วเหนือเสียงโจมตีเรือรบผิวน้ำ และเรือดำน้ำข้าศึกได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และมีขีดความสามารถในการยิงโจมตีเป้าหมายบนพื้นทวีป
เวียดนามเซ็นซื้อเรือทั้ง 6 ลำ ในเดือน ธ.ค.2552 ในแพกเกจรวมมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดเป็นเรือ “คิโลรุ่นปรับปรุง” (Improved Kilo) ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล-มอเตอร์ไฟฟ้าเงียบที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก และได้ฉายา “หลุมดำในมหาสมุทร” จากกลุ่มนาโต้.
.