ซินหวา - โฆษกรัฐบาลกัมพูชาเผยวานนี้ (18) ว่า กัมพูชาไม่รีบร้อนที่จะเริ่มต้นการเจรจากับไทยเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำตัดสินของศาลโลก (ICJ) ในกรณีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่เป็นประเด็นร้อน
“ในตอนนี้เราเป็นผู้ชนะ เราชะลอการหารือออกไปเพราะเราไม่ต้องการให้คนไทยหัวรุนแรง และพรรคการเมืองฝ่ายค้านใช้ประเด็นนี้กดดันรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราไม่ต้องการรีบเร่งในประเด็นนี้เพราะเราชนะแล้ว” นายเคียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารและโฆษกรัฐบาล กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นายเคียว กัญฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ ประการหนึ่ง คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ถูกประชาชน และกลุ่มฝ่ายค้านคัดค้านอย่างหนัก และอีกประการคือ กรณีพิพาทพรมแดนใกล้ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา
“ดังนั้น เราจึงชะลอการหารือออกไป เราไม่ต้องการให้ ยิ่งลักษณ์ มีชะตากรรมอันโชคร้ายเช่นเดียวกันกับพี่ชายของเธอ” โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าว
ทักษิณ ที่เป็นเพื่อนสนิทของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ถูกปลดออกจากตำแหน่งในการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยกลุ่มทหาร และต้องใช้ชีวิตอยู่ในดูไบเพื่อเลี่ยงโทษจำคุก 2 ปี เนื่องจากละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการขัดกันทางผลประโยชน์
ศาลโลกมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของชะง่อนผา (promontory) ปราสาทพระวิหาร และไทยอยู่ภายใต้ข้อผูกพันที่จะต้องถอนทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือผู้รักษาการณ์ที่ประจำการออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ไม่นานหลังการประกาศคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้แสดงความรู้สึกพึงพอใจต่อคำตัดสิน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธที่ประจำการอยู่ตามแนวพรมแดนอยู่ในความสงบ และปฏิบัติหน้าที่อย่างยับยั้งชั่งใจ เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียด หรือการปะทะ เพื่อให้รัฐบาลกัมพูชา และไทยสามารถหารือถึงการดำเนินการตามคำตัดสินของศาล
ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่บนเชิงผาในระดับความสูง 525 เมตร บนเทือกเขาพนมดงรัก ห่างจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 500 กม.
ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาท และบริเวณใกล้เคียงเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 แต่ไทยอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่อยู่ถัดจากปราสาทในปี 2551 เมื่อยูเนสโกระบุให้ปราสาทเป็นมรดกโลก ซึ่งทำให้ปราสาทกลายเป็นจุดอ่อนไหวของการปะทะกันระหว่างกองกำลังของ 2 ประเทศนับแต่นั้น
ผู้นำกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในเดือน มิ.ย.2554 ว่า การปะทะกันทำให้พลเรือน และทหารของกัมพูชาเสียชีวิต 24 คน และยังทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย และสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อปราสาท แต่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศได้คลี่คลายลงนับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าบริหารประเทศเมื่อเดือน ก.ย.2554
นายเคียว กัญฤทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่บริเวณพรมแดนใกล้ปราสาทยังคงเป็นปกติจนถึงตอนนี้ และกองกำลังทหารของ 2 ประเทศต่างให้ความร่วมมือต่อกันเป็นอย่างดี.