เอเอฟพี - นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามถูกนำตัวขึ้นศาล วันนี้ (29) ในความผิด “ใช้เสรีภาพทางประชาธิปไตยในทางที่ผิด” ด้วยการโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจลงบนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ “เฟซบุ๊ก” ที่นับเป็นการปราบปรามผู้เห็นต่างกับรัฐบนอินเทอร์เน็ตอีกขั้นหนึ่งของรัฐที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์
ดิ่งห์ เญิ่ต อวี อายุ 30 ปี ถูกนำตัวขึ้นศาลใน จ.ลองอาน ทางภาคใต้ ในข้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตต่อต้านการจำคุกน้องชายเนื่องจากโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ
“เขาถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 258 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ผิดซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ” ทนายความของอวี กล่าว
ทางการมักใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวปิดปากผู้เห็นต่าง และนักเคลื่อนไหว ซึ่งบทลงโทษสูงสุดในความผิดนี้คือ จำคุกนาน 7 ปี
เวียดนามที่ถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของอินเทอร์เน็ตโดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ได้ห้ามเอกชนดำเนินกิจการสื่อ โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุมหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และโทรทัศน์ทุกช่อง
ในคำฟ้องระบุว่า อวี ถูกตั้งข้อหาจากการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งโดยปกติข้อกล่าวหาสำหรับบรรดาผู้เห็นต่าง และนักเคลื่อนไหวมักเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความลงในบล็อก แต่ในกรณีของอวีนั้น นับเป็นครั้งแรกที่นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามถูกนำตัวขึ้นศาลพิจารณาคดีเพียงแค่เพราะแสดงความคิดเห็นลงบนเว็บไซต์สังคมออนไลน์
เมื่อเดือน มิ.ย. นายดิ่งห์ เหวียน ข่า น้องชายของอวี ถูกตัดสินจำคุกนาน 8 ปี และได้รับการลดโทษลงเหลือ 4 ปี หลังอุทธรณ์ จากความผิดโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ ขณะที่จำเลยร่วม คือ เหวียน เฟือง เอวียน ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากประชาชนแสดงความไม่พอใจกันเป็นวงกว้างต่อบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับผู้ที่มีอายุ 21 ปี
หลังการพิจารณาคดีของน้องชาย ในเดือน มิ.ย. อวี ได้เริ่มรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวน้องชายบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งคำฟ้องระบุว่า อวี โพสต์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐ องค์กร และบุคคล
“รูปภาพ และข้อความตามที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีประชาชนจำนวนมากได้เห็น และอ่าน หลายคนส่งต่อ กด “ไลก์” และแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายความเห็นนั้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสี และดูหมิ่นรัฐ องค์กร และบุคคล” คำฟ้อง ระบุ
องค์กรฮิวแมนไรท์วอช ที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว อวี ระบุว่าในปี 2556 มีนักเคลื่อนไหว และผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างน้อย 61 คน ถูกทางการจำคุก เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีอยู่ราว 40 คน
เมื่อไม่นานที่ผ่านมา เวียดนามเพิ่งผ่านกฎหมายอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ ที่ระบุห้ามบล็อกเกอร์ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ส่งต่อบทความข่าวบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถูกมองว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของการปราบปรามเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตของทางการ.