เอเอฟพี - เวียดนามออกกฎหมายห้ามผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และบรรดาบล็อกเกอร์แชร์บทความข่าวสารออนไลน์ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ที่ดูเหมือนเป็นการปราบปรามเสรีภาพในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
กฎหมายใหม่ระบุให้ เว็บบล็อก และเว็บไซต์สังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่ได้รับความที่นิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในประเทศที่มีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนัก ควรที่จะต้องถูกใช้เป็นเพียงแค่พื้นที่สำหรับจัดหา และแลกเปลี่ยนข้อมูลของบุคคลเท่านั้น
กฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ลงนามรับรอง และเผยแพร่ต่อสาธารณะในค่ำวันพุธ (31) ระบุเงื่อนไขว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ควรใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการแชร์ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จะไม่ได้รับอนุญาตให้อ้างถึงข้อมูลทั่วไป ... ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ สำนักข่าว หรือเว็บไซต์ที่รัฐเป็นเจ้าของ” นายฮว่าง วิงห์ บาว ผู้อำนวยการกรมวิทยุ โทรทัศน์ และสารสนเทศ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่แน่ชัดถึงวิธีที่กฎหมายจะดำเนินการ หรือบทลงโทษที่ต้องเผชิญ แต่ผู้แสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการทำให้การแชร์ลิงก์เนื้อหา หรือบทความหารือที่เผยแพร่ออนไลน์ในสื่อของทางการเวียดนามเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
กฎหมายใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย. และยังระบุห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ จัดหาข้อมูลที่ต่อต้านเวียดนาม บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ กฎระเบียบสังคม และความสามัคคีของชาติ หรือข้อมูลที่บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี และทำให้องค์กร และบุคคลเสื่อมเสียเกียรติ และศักดิ์ศรี
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์เวียดนามเน็ต รายงานอ้างคำกล่าวของ นายเล นาม ทั้ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ระบุว่า กฎหมายใหม่มุ่งที่จะช่วยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหาข้อที่ถูกต้อง และสะอาดบนอินเทอร์เน็ต
เวียดนาม ที่ถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของอินเทอร์เน็ต โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ในปี 2556 ได้ห้ามเอกชนดำเนินกิจการสื่อ และหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ โทรทัศน์ทุกช่อง ล้วนเป็นกิจการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ
ประชาชนจำนวนมากต้องการที่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ และบล็อกในการเข้าถึงข้อมูลที่มากกว่าสื่อของทางการ แต่รัฐบาลเผด็จการได้ย้ำความพยายามที่จะยับยั้งการโต้เถียงกันในโลกออนไลน์ในสิ่งที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เป็นการยกระดับความรุนแรงของการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งบรรดาผู้แสดงความเห็นทางออนไลน์ต่างมีท่าทีไม่พอใจกับกฎหมายใหม่นี้
เหวียน กว่าง วิงห์ เจ้าของบล็อกที่มีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ระบุว่า กฎหมายนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะปิดปากประชาชน ขณะที่เหวียน วัน เฟือง ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนามที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากอีกคนหนึ่ง ได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องการทำให้ประชาชนกลายเป็นหุ่นยนต์
จนถึงปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหว 46 คน ถูกตัดสินความผิดฐานดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐ และถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ภายใต้สิ่งที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นข้อกฎหมายทางอาญาที่นิยามไว้อย่างคลุมเครือ และแค่เฉพาะเดือน มิ.ย. เพียงเดือนเดียว มีบล็อกเกอร์อย่างน้อย 3 คน ถูกควบคุมตัว โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐ.