ASTVผู้จัดการออนไลน์ – บริษัทเทคโนโลยีและวิศวกรรมแห่งหนึ่งในมลรัฐแมสซาชูเซตส์สหรัฐได้ซุ่มวิจัยทดลองโครงการหุ่นยนตร์เพื่อการลำเลียงขนส่งทางทหารมา 5-6 ปีแล้ว โดยใช้วิชาความรู้ที่แตกตัวออกมาจาก MIT สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ จากหุ่นยนตร์ต้นแบบ วันนี้เจ้า Big Dog ได้กลายมาเป็น "หมาใหญ่" ตัวที่สมบูรณ์ขึ้น วิดีโอคลิปชิ้นหนึ่งที่นำออกเผยแพร่ไม่กี่วันมานี้มีผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านครั้งในยูทิวบ์
นี่เป็นเพียงโปรเจ็กต์เริ่มแรก.. บริษัทบอสตันไดนามิกส์ (Boston Dynamics) ไม่ได้หยุดอยู่แต่นั้น วิดีโอคลิปอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในเวลาไล่เลี่ยกันได้แนะนำ "ไอ้แมวป่า" (Wild Cat) ที่วิ่งได้เร็วขึ้นและเข้าถึงได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ คลิปชิ้นนี้เรียกความสนใจจากผู้ชมได้กว่า 1 ล้านครั้งแล้วเช่นกัน
ทั้งสองโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนรอนจากองค์การโครงการวิจัยกลาโหมก้าวหน้า หรือ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กับกองกำลังนาวิกโยธิน
เพียงไม่กี่วันมานี้ไม่เพียงแต่วิดีโอคลิปหุ่นยนตร์ลำเลียงขนส่งจะได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วไป หากยังรวมถึงบรรดานักวิเคราะห์กับผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมเป็นจำนวนมากอีกด้วย
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งกล่าวว่าในวันข้างหน้า ทั้งไอ้แมวป่าและหมาใหญ่จะไม่ใช่หุ่นยนตร์ขนส่งเช่นในวันนี้ แต่มันจะติดอาวุธและแอบย่องเข้าสู่แนวหลังของข้าศึกแทนทหารบกหรือนาวิกโยธินได้ ทำงานได้ด้วยตัวเองแบบเดียวกับยานบิน UCAS หุ่นบินพิฆาตที่สหรัฐทดลองให้ลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินด้วยตัวเองได้เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้
วันข้างหน้าหุ่นยนตร์พวกนี้จะสามารถบรรทุกระเบิดเพื่อวางดักรถถัง ยานพาหนะกระทั่งกำลังพลข้าศึก ในแนวหน้า หรือเป็นระเบิดขนาดใหญ่ที่มีอานุภาพทำลายสูงด้วยตัวของมันเอง
เสียงเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่ดังแสบแก้วหูและได้ยินไปไกลนับกิโลเมตรในปัจจุบัน วันข้างหน้าหุ่นพวกนี้จะเดินได้ด้วยพลังงานชนิดอื่นและติดระบบนำร่องผ่านดาวเทียมหรือ ด้วย GPS ไม่ต่างกับจรวดร่อนโทมาฮอว์ก กลายเป็นมัจจุราชเงียบทางพื้นดิน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ "บิ๊กด็อก" แรกเริ่มเดิมทีผลิตขึ้นมาภายใต้โครงการที่ชื่อว่า LS3 บอสตันไดนามิกส์หวังจะให้ทำหน้าที่เป็นแค่ "ลาลำเลียง" ที่สามารถเข้าสู่พื้นที่ยากลำบากได้ไปพร้อมๆ กับทหารราบหรือนาวิกโยธิน เพื่อช่วยลดน้ำหนักแบกหาม ซึ่งปัจจุบันทหารแต่ละนายต้องแบกสัมภาระสิ่งของยังชีพ ชุดเกราะ อาวุธและกระสุนรวมๆ เกือบ 100 กิโลกรัม
แต่หุ่นพวกนี้จะลดภาระขนสงอันหนักอึ้งลงได้ ช่วยให้ทหารโฟกัสไปที่การสู้รบได้มากขึ้น ประสิทธิภาพการสู้รบดีขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น
.
.
บิ๊กด็อกตัวแรกเดินทางได้เร็วประมาณ 4 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือเพียง 6 กม.เศษๆ ควบคุมด้วยวิทยุไอพี (IP Radio) แต่เจ้าหมาตัวโตตัวใหม่เร็วขึ้นเป็นกว่า 20 กม./ชม. ปีนป่ายความชันได้เกือบ 40 องศา บรรทุกหนักได้กว่า 400 ปอนด์ (กว่า 180 กก.) และนำทางด้วย GPS อย่างสมบูรณ์แบบ ตัวต้นแบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 2 จังหวะ 15 แรงม้า แต่ตัวใหม่ในวันนี้.. แน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนไป
หุ่นยนตร์รุ่่นแรกนี้ออกแบบมาให้สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ที่คนเข้าไปได้ลำบากและอาจจะเป็นไปไม่ได้สำหรับยานพาหนะทั้งประเภทล้อยางและตีนตะขาบ
ส่วนน้องใหม่ "ไวด์แค็ท" ภายใต้โครงการ M3 ของ DARPA ออกแบบมาให้วิ่งห้อเข้าไปได้ในทุกพื้นที่ เร็วกว่าและคล่องตัวกว่าเพื่อการส่งบำรุงฉุกเฉิน ในสภาพพื้นราบไร้สิ่งกีดขวางเจ้าแมวป่าตัวนี้วิ่งได้ด้วยความเร็ว 16 ไมล์ต่อชั่วโมง (25 กม.เศษ) และในวันนี้หน่วยงานวิจัยก้าวหน้าของกระทรวงกลาโหมกำลังทดลองหุ่นยนตร์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อ "ชีตาห์" (Cheetah) ออกแบบส่วนหลังให้ยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะทำให้มันสิ่งได้เหมือนเสือชีต้าห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก
หุ่นยนตร์ลำเลียงขนส่งทุกตัวควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ รองรับน้ำหนักและรับการกระแทกกระทั้นทุกท่วงท่าผ่านระบบไฮดรอลิกที่ติดตั้งไว้ตามส่วนต่างๆ มันจะลุกขึ้นยืนและเดินหน้าได้ด้วยตัวเองด้วยเมื่อหกล้ม และรู้วิธีปฏิบัติให้หลุดรอดได้ในยามติดหล่ม (โปรดชมคลิปประกอบ)
"อีกไม่นานหุ่นยนตร์พวกนี้ผลิตออกมานับหมื่นๆ ตัวเปรียบเสมือนกองทัพ ซึ่งทั่วโลกจะได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นเวทีแสดงพลังแห่งใหม่ที่ใหญ่โตกว่าของสหรัฐ.." นักวิเคราะห์รายหนึ่งเขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม "มิลลิทารีนิวส์ด็อทเน็ต"
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิเคราะห์กับบรรดาผู้มองออกไปไกลสู่อนาคตยังคงดำเนินต่อไป.
.
.
.