[หรือ..คลิกที่นี่เพื่อชม Satellite Loop]
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เวียดนามสั่งรับมือไต้ฝุ่นลูกใหม่เต็มพิกัดในวันเสาร์ 28 ก.ย.นี้ ในขณะที่ท้องทะเลกำลังปั่นป่วนหนักด้วยอิทธิฤทธิ์ของพายุลูกใหญ่ที่คาดว่าจะพัดเข้าถึงฝั่งในอีก 48 ชั่วโมงข้างหน้า ภาพจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTSAT ทีเผยแพร่โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งในย่านนี้แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นระดับ 1 กำลังปั่นไอน้ำขึ้นคละคลุ้งบรรยากาศในย่านกลางทะเลจีนใต้ และศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่นของกองทัพเรือสหรัฐฯ พยากรณ์ว่า ปลายทางของมันต้นสัปดาห์หน้าอาจจะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หรืออาจไปได้ไกลถึงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อกลายเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ
สำนักพยากรณ์เตือนภัยพายุในเขตร้อน (Tropical Storm Risk) ในกรุงลอนดอน ก็ได้ออกแผนภูมิพยากรณ์คล้ายกันชี้ให้เห็นปลายทางของไต้ฝุ่นหวูติ๊บ (Wutip) ในแถบภาคกลางตอนบนของไทยในต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามนี้ ก็จะเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งขณะที่ประชาชนหลายล้านในจังหวัดแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยกำลังประสบอุทกภัย
“หวูติ๊บ” เป็นเสียงเรียกชื่อพายุรุนแรงในเขตร้อนลูกนี้ที่บันทึกเสียงไว้โดยหอสังเกตการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory) คำๆ นี้มีความหมายว่า “ผีเสื้อ” ตามภาษาท้องถิ่นมาเก๊าที่มีแมลงปีกสวยงามชนิดนี้หลากหลายพันธุ์ในช่วงหน้าหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ
หวูติ๊บ นับเป็นพายุลูกที่ 10 ที่ก่อเกิดหรือพัดเข้าสู่ทะเลจีนใต้ในปีนี้ตามระบบนับของเวียดนามเริ่มต้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อ 72 ชั่วโมงที่แล้วทางทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเพิ่มความหนาแน่นของมวลกลายเป็นดีเปรสชัน-พายุโซนร้อนอย่างรวดเร็ว ก่อนจะทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์เป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 (119-153 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ตอนเช้าตรู่วันเสาร์
ตามรายงานของศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย หวูติ๊บ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10-15 กม./ชม. และเมื่อเวลา 07.00 น. วันเสาร์นี้อยู่ห่างจากฝั่งทะเลภาคกลางราว 640 กม. โดยมีทิศทางเคลื่อนตัวขึ้นลงระหว่างแนวตะวันตก กับตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเข้าถึงฝั่งระหว่างนครด่าหนัง กับ จ.เหงะอาน (Nge An) ในวันอังคาร 1 ต.ค. ก่อนอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อนขณะพัดเข้าลาวซึ่งจะอ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชัน
อย่างไรก็ตาม แผนภูมิพยากรณ์โดยศูนย์ร่วมแจ้งเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ JTWC (Joint Typhoon Warning Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในนครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ตอนเช้าตรู่วันเสาร์ ได้ชี้ให้เห็นปลายทางของหวูติ๊บที่อยู่ไกลถึงชายแดนลาว ติดกับ จ.น่าน และอุตรดิตถ์ของไทย และถ้าหากพายุพัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็อาจจะไปสิ้นสุดลงในแถบ จ.พิษณุโลก เมื่ออ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ
สัปดาห์นี้เวียดนามยังอยู่ระหว่างฟื้นฟูหลายพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากปลายสัปดาห์ที่แล้วตั้งแต่จังหวัดในเขตที่ราบสูงตอนกลาง ขึ้นไปจนถึง จ.เหงะอาน ในภาคกลางตอนบน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 10 คน บ้านเรือน และทรัพย์สินของราษรเสียหายเป็นจำนวนมาก
แต่อุณหภูมิในกรุงฮานอยกับจังหวัดทางตอนเหนือของเวียดนามเริ่มลดลงต่ำในช่วงไม่กี่วันมานี้ เด็กๆ ในเมืองหลวงของเวียดนามต้องสวมเสื้อกันหนาวไปเรียน ประชาชนทั่วไปสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นขึ้น ราษฎรในหายหมู่บ้านในย่านรอบนอกของเมืองหลวงต้องก่อไฟผิงในยามเช้าตรู่
ถ้าหากมวลอากาศจากทางเหนือแผ่ลงปกคลุมอนุภูมิภาคนี้เร็วขึ้น ก็อาจจะช่วยลดระดับความรุนแรง และทำให้อายุของไต้ฝุ่นหวูติ๊บหดสั้นลง ซึ่งดูจะเป็นความหวังเดียวสำหรับประชาชนเวียดนาม ลาว และไทยที่จะรอดพ้นภัยพิบัติจากพายุชื่อสวยงามลูกนี้
ชื่อ “หวูติ๊บ” ถูกนำออกใช้เป็นครั้งแรกในเดือน ส.ค.2544 ซึ่งในช่วงรุนแรงที่สุดเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 โดยกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกพัดผ่านบริเวณหมู่เกาะมารินา (Marina Islands) ก่อนไปสิ้นฤทธิ์ที่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของจีน โดยไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง
ตามประวัติ ไต้ฝุ่นในแปซิฟิกที่ราบรวมโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น หรือ JMT (Japan Meteorological Agency) ชื่อ หวูติ๊บ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในต้นเดือน ส.ค.2550 เป็นพายุโซนร้อนลูกเล็กๆ ก่อเกิดในบริเวณใกล้เคียงกันกับลูกปัจจุบัน แต่สลายตัวไปก่อนจะเข้าถึงฝั่งในภาคกลางตอนบนเวียดนาม เนื่องจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นปลาบึก (Pabuk) ลูกที่ใหญ่กว่าที่กำลังพัดผ่านเกาะไต้หวันในช่วงเดียวกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไต้ฝุ่นชื่อ “ปลาบึก” อีกลูกหนึ่ง ได้ช่วยกดดันทำให้ไต้ฝุ่นอูซางิ (Usagi) อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วหลังจากทำให้ชาวจีนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 25 คน แต่ไม่สามารถเข้าถึงเวียดนาม ลาว และไทยได้.
.
2
3
4
5
6
7