ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไทย กับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงยังมีโอกาสได้รับอิทธิพลจากไต้ฝุ่นอูซางิ (Usagi) ที่กำลังฟาดงวงฟาดงาอยู่ทางตะวันออกของทะเลจีนใต้ เหนือหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในวันศุกร์ 20 ก.ย.นี้ และส่อเค้าจะเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุด รุนแรงมากที่สุดในปีนี้ ขณะปั่นความเร็วใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 5 ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มุ่งหน้าเข้าถล่มฮ่องกง-ไต้หวัน และภาคใต้ของจีนวันอาทิตย์
สำนักงานพยากรณ์อากาศหลายแห่ง รวมทั้งศูนย์ร่วมเตือนภัยใต้ฝุ่น หรือ JTWC (Joint Typhoon Warning Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ ออกแผนภูมิพยากรณ์ในวันนี้ชี้ให้เห็นปลายทางใหม่ของอูซางิ ที่จะไปจบลงเป็นดีเปรสชันในแถบแขวงหลวงพระบางกับแขวงภาคเหนือของลาว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดฝนตกหนักซ้ำเติมสภาวะน้ำท่วมในประเทศนี้
ดีเปรสชันในทะเลจีนใต้ลูกหนึ่งในสัปดาห์นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2 คนใน จ.ดั๊กลัก (Dak Lak) ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง อีก 11 คนสูญหาย กับอีกกรณีหนึ่งใน จ.เหงะอาน (Nge An) ในภาคกลางตอนบน เมื่อน้ำพัดเอารถยนต์นั่งที่มีผู้โดยสาร 5 คนหายไปขณะขับติดผ่านทางน้ำไหลใต้เขื่อนแห่งหนึ่งวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงาน
ตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ (Pagasa) ตอนเช้าวันศุกร์นี้ ไต้ฝุ่นอูซางิ มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 700 กิโลเมตร มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 260-315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไต้ฝุ่นระดับ 5 เต็มกำลัง
ภาพถ่ายอินฟราเรดจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTSAT แสดงให้เห็นนัยน์ตาเล็กแหลมที่ใจกลางของพายุที่มีรัศมีราว 27 กิโลเมตร
อูซางิ เป็นพายุลูกที่ 17 ที่ก่อตัวขึ้นในย่านแปซิฟิกตะวันตกปีนี้ มีความรุนแรงมากพอที่จะส่งอิทธิพลทำให้เกิดฝนตกในนครมะนิลา ลงไปจนถึงเขตวิซายาส (หมู่เกาะภาคกลาง) ทางการสั่งให้จังหวัดต่างๆ ทางตอนเหนือของเกาะลูซอนที่อยู่ใกล้ทางผ่านของพายุมากที่สุดต้องเตรียมมาตรการรับมือเหตุน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
สำนักอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งเชื่อว่า อูซางิ จะอ่อนกำลังลงเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า แต่ยังอาจจะคงความรุนแรงระดับไต้ฝุ่นเมื่อพัดผ่านฮ่องกง และไต้หวันในวันจันทร์ และอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อนเมื่ออยู่เหนือภาคใต้ของจีน
แผนภูมิพยากรณ์โดย JTWC ในมลรัฐฮาวาย และองค์การเตือนภัยความเสี่ยงพายุโซนร้อนในกรุงลอนดอน (Tropical Storm Risk) แสดงให้เห็นแนวเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนที่พัดผ่านภาคเหนือเวียดนาม ก่อนจะอ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชัน และสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณภาคเหนือของลาว และไทย.
.