xs
xsm
sm
md
lg

ช้าก่อนสาวก... “กริพเพน สเตลธ์” กำลังจะมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กริพเพน “สเตลธ์”? ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่ากลุ่มซาบแห่งสวีเดนผู้ผลิตเครื่องบินรบ JAS39 ได้ปัดฝุ่นโครงการที่พับเอาไว้ 5-6 ปีก่อนมาพัฒนาต่อไปเพื่อผลิตเครื่องบินรบยุคที่ 5 ลำแรกของยุโรปออกมา มุ่งเจาะตลาดทั้งในยุโรป และเอเชีย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ทางการจีนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีชื่อ ไต้หวัน เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ตามรายงานของ “โกลบอลไทม์ส” นิตยสารรายไตรมาสภายใต้ร่มธงหนังสือพิมพ์ “ประชาชนรายวัน” กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บริษัทด้านอาวุธ และการอวกาศของกลุ่มซาบได้ออกแสวงหาความร่วมมือจากไต้หวันกับเกาหลี รวมทั้งฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการ FS-2020 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเครื่องบินรบ “กริพเพน” ยุคที่ 5 รูปทรงล่องหน มีขีดความสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์

นิตยสารข่าวที่ทรงอิทธิพลของจีนรายงานเรื่องนี้โดยอ้างข่าวสารที่เผยแพร่ในช่วงต้นปี หลังจากมีสำนักข่าวกลาโหมตะวันตกอีกแห่งหนึ่งแพร่งพรายออกมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ซาบได้ปัดฝุ่นโครงการนี้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังหยุดไปเมื่อปี 2551 เมื่อสหภาพยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากหนี้เน่าในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตการเงิน แต่สวีเดน ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มที่เศรษฐกิจย่ำแย่เหมือนประเทศยุโรปใต้ และเป็นเวลาอันเหมาะสมสำหรับการพัฒนาโครงการ FS-2020 ต่อไปเพื่อเป้าหมายในปี 2563 ดีเฟ้นซ์นิวส์อัปเดทด็อทคอมรายงาน

ส่วนสื่อจีนกล่าวว่า ไต้หวัน นั้นไม่ได้มีความสนใจโครงการ “กริพเพนสตลธ์” มากนัก เนื่องจากไม่เชื่อใจสวีเดนที่ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะยอมอ่อนข้อให้แก่คอมมิวนิสต์จีน นอกจากนั้น ไต้หวัน ก็มีโครงการจะผลิตเครื่องบินรบยุคที่ 5 โดยใช้โครงร่างของ F-22 “แร็ปเตอร์” หรือ F-35 “ไล้ท์นิ่ง” ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรอันแนบแน่น ขณะที่ยังไม่ทราบท่าทีของเกาหลีในขณะนี้

สำหรับญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่ามีโครงการผลิตเครื่องบินรบยุคที่ 5 ของตัวเอง คื่อโครงการที่มีชื่อว่า ATD-X Shin Shin

การเข้ามาสู่ตลาดย่านนี้ของกริพเพนสเตลธ์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็จะทำให้เอเชียแปซิฟิกมีเครื่องบินรบสุดยอดอย่างน้อย 4 รุ่น คือ J-31 ของจีน ของไต้หวัน ของญี่ปุ่น กับของกลุ่มซาบ ยังไม่นับรวมกับ F-35 ที่ญี่ปุ่นเองเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัย และผลิตกับกลุ่มบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน แห่งสหรัฐฯ กับ F-22 ที่ญี่ปุ่นขอซื้ออีกด้วย

การเข้ามาปรากฏตัวของกริเพนสเตลธ์ จะทำให้ดูเหมือนว่า J-31 ที่จีนหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นกำลังหลักของกองทัพอากาศในทศวรรษหน้า กำลังจะถูกล้อมด้วยเครื่องบินรบเทคโนโลยีสูงกว่าหรืออย่างน้อยที่สุดก็สูสีกันมากมายหลายรุ่น จีนจึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องบินสวีเดนอย่างใกล้ชิด

ตามแผนการของซาบนั้น กริพเพนสเตลธ์ จะใช้โครงการร่างเดิมๆ รวมทั้งปีกสามเหลี่ยมแบบเดลต้าของ JAS39 ยังคง “คานาร์ด” ด้านหน้าเอาไว้ แต่มีแพนหางคู่เอนคล้ายกับหางของ F-22 ติดเครื่องยนต์ไอพ่น 1 เครื่องเช่นเดิม แต่มีเว็กเตอริ่งคอนโทรลซึ่งต่างไปจากรุ่นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความคล่องแคล่วให้เครื่องบินรบยุคหน้า และยังสามารถจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผลได้คือ ราคาจะต่ำกว่า F-22 หรือ F-35 ของสหรัฐฯ

สื่อกลาโหมออนไลน์บางแห่งตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า เมื่อศึกษาจากการออกแบบโครงร่างที่คล้ายคลึงกัน เครื่องบินรบยุคที่ 5 ของรัสเซียคือ T-50 PAK FA “สเตลธ์” ก็อาจได้รับแรงบันดาลใจจากกริเพนสเตลธ์ ก็เป็นได้

กลุ่มซาบเริ่มโครงการ FS-2020 เมื่อปี 2548 ด้วยการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินจากกระทรวงกลาโหม โครงการเดินมาจนถึงขั้นมีการสร้างเครื่องบินโมเดลเพื่อบินทดสอบ และเคยมีวิดีโอเผยแพร่จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วยุโรปมาแล้ว โครงการนี้ยังอยู่ และถึงเวลาจะต้องวิจัยต่อไปให้ได้ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุดก่อนลงมือสร้างเครื่องต้นแบบ และ “ถึงแม้จะไม่มีฝ่ายอื่นๆ สนใจร่วมทุน ซาบก็สามารถเดินทางหน้าต่อไปได้ด้วยความเชี่ยวชาญของกลุ่มเองที่ผลิตเครื่องบินรบมานานหลายสิบปี” เว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งเดียวกันกล่าว
.

2

3

4
สวีเดนคิดต่างไปจากกลุ่มพันธมิตรยุโรปตะวันตกโดยมุ่งผลิตเครื่องบินรบยุคที่ 5 ออกมา ขณะที่ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องบินรบยุคที่ 4 กับยานบินไร้การบังคับ เพราะฉะนั้น FS-2020 จึงเป็นโครงการผลิตเครื่องบินสเตลธ์เพียงโครงการเดียวในซีกยุโรป

ถ้าหากนับเริ่มต้นจาก 0 ก็ต้องยอมรับว่า JAS39 กริพเพน ประสบความสำเร็จด้านการตลาดพอสมควร โดยสามารถจำหน่ายเวอร์ชันส่งออกให้แก่หลายประเทศ รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วรัฐสภาเปิดไฟเขียวให้รัฐบาลซื้อกริพเพนอีกล็อตหนึ่ง และสาธารณรัฐเช็ก ได้ตัดสินใจเช่าเครื่องบินรบยุคที่ 4+ ที่ผลิตในสวีเดนต่อไป

สวีเดนต้องเผชิญหน้ากับแสนยานุภาพของสหภาพโซเวียตมาตลอดช่วงปีแห่งสงครามเย็น ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน หรือรัสเซียในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สวีเดน ต้องมีกองทัพอากาศที่เข้มแข็ง และมีเครื่องบินที่ทันสมัยก็ด้วยสาเหตุดังกล่าว

เคยมีสื่อกลาโหมบางแห่งวิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า JAS39 กริพเพน ของกองทัพอากาศไทย เป็นเสมือนการปักธงของสวีเดน เป็นสัญลักษณ์การเผชิญหน้าระหว่างสวีเดนกับรัสเซียในภูมิภาคนี้

กริพเพนของไทยกำลังเผชิญกับเครื่องบินรบประสิทธิภาพสูงค่ายโซเวียต/รัสเซีย ที่รายล้อมอยู่รอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Su-30MKM ที่ทันสมัยที่สุดของมาเลเซีย จำนวน 18 ลำ กับ MiG-29 อีกฝูงใหญ่ ที่เชื่อกันว่ามาเลเซีย จะเลือกอัปเกรดให้ทันสมัยตามข้อเสนอของรัสเซียเมื่อต้นปีนี้

หากไม่นับ MiG-21 ที่ค่อนข้างเก่าของกองทัพอากาศลาว ห่างออกไปไม่ไกลนัก ทางทิศตะวันออก กริพเพน ของไทยยังต้องเผชิญกับ Su-30MK2/MK2V ของกองทัพอากาศเวียดนามที่อาจจะมีจำนวนถึง 40 ลำภายในปี 2563

เมื่อหันไปทางทิศตะวันตก ก็ยังต้องเจอ MiG-29 ในพม่าอีก 24 ลำ และไทยยังต้องเฝ้าจับตาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่พม่าจัดซื้อจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังเก็บเป็นความลับสุดยอด.
กริพเพนแห่งอนาคต
สำนักข่าวกลาโหมออนไลน์

5

6

7

8
กำลังโหลดความคิดเห็น