.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเป็นแขนงอุตสาหกรรมที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 นี้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สื่อในพม่ารายงานอ้างคณะกรรมการการลงทุนแห่งพม่าหรือ MIC (Myanmar Investment Commission) ซึ่งเปิดเผยระหว่างการประชุมสัมมนาเมื่อเร็วๆ นี้
สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออกแห่งพม่า (Myanmar Garment Manufacturers Association) ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมกล่าวว่า ปีนี้กำลังจะมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกผุดขึ้นใหม่อีก 20 แห่งในกรุงย่างกุ้ง เพื่อผลิตส่งออกไปยังเกาหลี และญี่ปุ่นเป็นหลักตามคำสั่งซื้อ ทั้งยุโรป และสหรัฐฯ ต่างก็เพิ่มการสั่งซื้อจากพม่าเช่นกัน หนังสือพิมพ์รายวันนิวส์อีเลฟเว่นรายงาน
โดยปกติทั่วไป โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในย่างกุ้งจะจ้างแรงงานระหว่าง 500-1,000 คน แต่โรงงานที่เปิดใหม่แต่ละแห่งจะจ้างแรงงาน 1,000 คนขึ้นไป อุตสาหกรรมนี้ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก MGMA กล่าว
พม่าเคยมีอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกที่เฟื่องฟูไม่แพ้ประเทศอื่นใดในย่านนี้ แต่มาตรการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกที่ครอบคลุมเกือบจะทุกแขนงอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถหาตลาดได้ จึงมีการปิดโรงงานลงนับร้อยแห่ง เลิกจ้างแรงงานนับหมื่นๆ คน
ในช่วงปลายของรัฐบาลภายใต้คณะปกครองทหาร อุตสาหกรรมนี้ประทังอยู่ได้ด้วยคำสั่งซื้อจากเกาหลี กับญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจาก 2 ตลาดใหญ่เอเชีย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรใดๆ
ตามรายงานของ MIC จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่า โดยใช้เงินลงทุนในประเทศนี้กว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมหลายแขนง
สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป กับเครื่องนุ่งห่มทำรายได้ให้ประเทศ 30 ล้านดอลลาร์ในระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.ปีนี้ อีเลฟเว่นนิวส์รายงานอ้างสถิติล่าสุดของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออกพม่า.