เอเอฟพี - ประชาชนหลายหมื่นคนในบังกลาเทศ และพม่า ได้รับคำสั่งวันนี้ (15) ให้ย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่พายุไซโคลนในอ่าวเบงกอลเคลื่อนเข้าใกล้พื้นที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง
สหประชาชาติเตือนว่า ผู้คนมากกว่า 8 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงจากไซโคลนมาฮาเซนที่คาดว่าจะขึ้นฝั่งในวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์นี้ ในบริเวณใกล้พรมแดนระหว่างสองประเทศ
ทางการบังกลาเทศ ได้บอกแก่ประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำให้ย้ายไปยังที่หลบภัยจากไซโคลน ขณะที่ทางการพม่า ประกาศแผนเคลื่อนย้ายคนราว 166,000 คน ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงทางด้านชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
“กองทัพทหารจะช่วยอพยพผู้คนไปยังที่สูง และไปยังที่หลบภัยฉุกเฉินในโรงเรียน” อ่อง มิน รัฐมนตรีสำนักงานประธานาธิบดีพม่ากล่าวในการแถลงข่าวในนครย่างกุ้ง
“ประชาชนบางส่วนไม่ต้องการย้ายออกจากที่อยู่ แต่เราไม่ต้องการเห็นพวกเขาเสียขีวิต ดังนั้น เราจะย้ายพวกเขาภายใต้กฎหมายการป้องกันจากภัยธรรมชาติ” นายอ่อง มิน กล่าว
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม (OCHA) ของสหประชาชาติระบุในคำแถลงว่า ไซโคลนได้อ่อนกำลังลงเล็กน้อยขณะเคลื่อนตัวมุ่งไปทางเหนือผ่านอ่าวเบงกอล แต่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตประชาชน 8.2 ล้านคน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บังกลาเทศ และพม่า และว่าเมืองจิตตะกอง และเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่เป็นที่ตั้งของค่ายพักชั่วคราวของผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮิงญาในบังกลาเทศ จะเผชิญกับคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งที่เลวร้ายที่สุด และพายุฝนรุนแรง
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระบุว่า ทีมแพทย์ 113 ทีม ถูกระดมกำลังมาเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากพายุไซโคลน และพนักงานรัฐไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดงาน
“เราเตรียมพร้อมทุกวิถีทางเพื่อรับมือกับไซโคลนลูกนี้ เราเตรียมอาหารแห้ง ทีมแพทย์และรถพยาบาล รวมทั้งย้ายผู้ป่วย หรือหญิงตั้งครรภ์ออกจากค่ายไปยังโรงพยาบาล” เจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐบาลที่ดูแลค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ กล่าว
ไซโคลนมาฮาเซน ถูกจัดให้อยู่ในพายุระดับต่ำสุดจากทั้งหมด 5 ระดับ มีความเร็วลมสูงสุดที่ 88 กม.ต่อชั่วโมง ตามการระบุของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศ แม้พายุจะจัดอยู่ในระดับ 1 แต่ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูง 2 เมตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวชายฝั่ง และสร้างความเสียหายในพื้นที่อื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บังกลาเทศมีการเตรียมพร้อมรับมือไซโคลนดีกว่าฝั่งพม่าที่ในรัฐยะไข่มีชาวโรฮิงญาไร้ที่อยู่หลายหมื่นคนจากเหตุความรุนแรงระหว่างศาสนาเมื่อปีก่อน อาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราวที่น้ำท่วมถึง
สื่อทางการพม่ารายงานเมื่อวันอังคารว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ค้นหาชาวโรฮิงญาที่สูญหาย 58 คน หลังเรือที่ใช้โดยสารเพื่อหลบหนีพายุชนหินจนพลิกคว่ำ และทางการพม่าระบุว่า ไซโคลนลูกนี้อาจทำให้แผนการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่จะกลายเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เยือนสหรัฐฯ ในรอบเกือบครึ่งศตวรรษต้องเลื่อนออกไป.