xs
xsm
sm
md
lg

UN เรียกร้องพม่าเปิดทางเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้งในพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> วาเลรี เอมอส .--AFP/File/Simon Maina </font></b>

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ เรียกร้องพม่าหยุดสกัดกั้นความช่วยเหลือไปยังประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคนจากเหตุขัดแย้งกับกบฏชนกลุ่มน้อยทางเหนือของประเทศ และความวิตกกังวลต่อสวัสดิภาพของผู้คนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความหนาวเย็นเริ่มแผ่ปกคลุม

วาเลรี เอมอส ระบุในคำแถลงหลังเดินทางเยือนพื้นที่ในวันพฤหัสบดี ระบุว่า สหประชาชาติไม่สามารถเข้าถึงประชาชนหลายหมื่นคนที่ต้องอพยพยออกจากที่อยู่เพราะการต่อสู้กันระหว่างกองทัพทหารพม่า และกบฏติดอาวุธชาวกะฉิ่น

“สหประชาชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างมากให้แก่ประชาชนราว 39,000 คน ในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่นอกความควบคุมของรัฐบาล นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2555 เป็นต้นมา” รองเลขาธิการด้านกิจการมนุษยธรรม และผู้ประสานงานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน ระบุ

เอมอส กล่าวว่า หน่วยงานช่วยเหลือในท้องถิ่นได้จัดหาอาหาร และสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ แต่สิ่งของที่จัดเตรียมไว้กำลังจะหมดลง และฤดูหนาวใกล้เข้ามาเรื่อยๆ การจัดหาเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

การต่อสู้รุนแรงในรัฐกะฉิ่นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิง 17 ปี ระหว่างกองทัพและกองกำลังกะฉิ่น KIA สิ้นสุดลงเมื่อเดือน มิ.ย.2554

โฆษกหญิงของสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (OCHA) กล่าวว่า รัฐบาลได้ยุติการเข้าถึงพื้นที่เพราะไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ ดังนั้น สหประชาชาติจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขบวนรถความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่กบฎ

ผู้แทนสหประชาชาติได้เข้าพบประธานาธิบดีเต็งเส่ง และหยิบยกประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการไม่สามารถเข้าถึงค่ายพักแรมที่ควบคุมโดยรัฐบาล และกบฏในกะฉิ่น

นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 2491 สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ แต่พม่าได้ดำเนินการเจรจา และลงนามข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้นกับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม ยกเว้นข้อตกลงกับกบฏกะฉิ่นที่ยังไม่บรรลุเนื่องจากความไม่ไว้วางใจที่ฝังลึกของทั้งสองฝ่าย

การต่อสู้ต่อเนื่องในกะฉิ่น และความรุนแรงที่ปะทุขึ้นระหว่างชุมชนชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ ทางตะวันตก กลายเป็นอุปสรรคสำคัญบนเส้นทางการปฏิรูปของพม่า

เอมอส ที่เดินทางเยือนทั้ง 2 พื้นที่ ในระหว่างการเยือนพม่าเป็นเวลา 4 วัน ระบุว่าสภาพความเป็นอยู่ในค่ายพักแรมสำหรับชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่นั้นอยู่ในขั้นเลวร้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น