คลิปยิงเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายรัฐบาลในวันที่ 5 มี.ค.2556 ซึ่งอาจจะเป็น Mi-8 หรือ Mi-17 และดูจะเป็นลำล่าสุดผลงานของจรวดจีน |
คลิปเหตุการณ์วันที่ 25 ก.พ.2556 ที่ยิง ฮ. Mi-8 ตก และโทรทัศน์ CCTV ของจีนนำไปออกอากาศชื่นชมผลงานคุณภาพของ “ธนูบิน” |
.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สื่อของทางการจีนชื่นชมผลงานของจรวดต่อสู้อากาศยานประทับไหล่ยิง FN-6 “ธนูบิน” หลังจากฝ่ายกองทัพซีเรียเสรี (Free Syria Army) นำวิดีโอคลิปขึ้นโพสต์ในยูทิวบ์ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็เปิดเผยด้วยว่า นอกจากกัมพูชาแล้ว มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่มีจรวดรุ่นนี้ประจำการโดยผลิตเองภายใต้สิทธิบัตร กัมพูชายังมีรุ่นใหม่ล่าสุดอีกด้วย
ขณะเดียวกัน วันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลในซีเรียได้นำวิดีโอคลิปอีกชิ้นหนึ่งขึ้นโพสต์ในยูทิวบ์ โดยระบุว่า เป็นเหตุการณ์ 1 วันก่อนหน้านั้น แสดงให้เห็นการยิงเฮลิคอปเตอร์รัฐบาลตกอีกลำำหนึ่งด้วยจรวดจีน ซึ่งดูจะเป็นลำล่าสุด และ้เป็นลำที่ 2 ในรอบ 20 วัน
หนังสือพิมพ์ไชน่าไทม์ส รายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์วันพุธ 13 มี.ค. ขณะที่หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สฉบับภาษาอังกฤษกล่าวว่า ผลสำเร็จของจรวด FN-6 ในซีเรีย “จะช่วยปรับปรุงภาพรวมของยุทธภัณฑ์ที่ผลิตในจีน” แต่สื่อยอดนิยมที่มีผู้อ่านอยู่ทั่วโลกฉบับนี้กล่าวว่า ยังไม่ทราบจรวด FN-6 ตกไปถึงมือฝ่าต่อต้านรัฐบาลในซีเรียได้อย่างไร
โกลบอลไทม์สยังรายงานอีกว่า จรวดต่อสู้อากาศยาน FN-6 ถูกนำไปใช้ในการศึกมา 2-3 ครั้งแล้ว แต่ในซีเรียนับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายภาพวิดีโอเอาไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นคุณภาพของอาวุธจีน แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับ “การศึก” ครั้งก่อนๆ
ส่วนไชน่าไทม์สรายงานอีกว่า ในวันที่ 4 มี.ค. สถานีโทรทัศน์กลาง CCTV ของจีน ยังได้นำวิดีโอคลิปในยูทิวบ์ไปแพร่ภาพออกอากาศ ชื่นชมคุณภาพของอาวุธจีนอีกด้วย
จรวด FN-6 เป็นเวอร์ชันหนึ่งของจรวดหงอิง (Hongying-6) ที่ใช้ในกองทัพประชาชนจีน ผลิตโดยบริษัท Corporation of National Science and Technology Aerospace Development ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ บริษัทนี้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ขณะที่โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์นี้ว่า ยังไม่ทราบเรื่องราวดังกล่าวจากซีเรีย
.
.
จรวด FN-6 นำวิถีด้วยอินฟราเรด วิ่งตามความร้อน และมีระบบต่อต้านกลลวงต่้างๆ เช่นบอลลูนร้อนได้ดี มีระยะยิงทำลายเป้าหมายถึง 6 กิโลเมตร ยิงอากาศยานที่บินสูงถึง 3.5 กม. ความยาวตลอดลำเพียง 1.5 เมตร ท่อยิงหนัก 10.77 กิโลกรัม เมื่อรวมจรวดด้วยก็มีน้ำหนักเพียง 16 กก. ทำให้ง่ายต่อการนำพาสื่อของทางการจีนกล่าว
แม้จะยังไม่ทราบที่มาที่ไปในกรณีซีเรีย แต่จีนจำหน่าย FN-6 ให้แก่หลายประเทศ รวมทั้งซูดาน เปรู ปากีสถาน กัมพูชา และมาเลเซียด้วย
ในวันที่ 25 มิ.ย.2552 โทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชาได้แพร่ภาพจรวด FN-6 ระหว่างการสวนสนามงานหนึ่งของฝ่ายทหาร ก่อนหน้านั้น ในปี 2551 ก็เคยแพร่ภาพจรวด FN-16 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดของ FN-6 ขณะทหารกัมพูชาถืออยู่ที่ชายแดนไทย ไชน่าไทม์สกล่าว
ก่อนหน้านั้น ในเดือน พ.ค.2550 ทางการจีนได้เซ็นสัญญาขายให้มาเลเซียโดยไม่มีการเปิดเผยจำนวน ขณะเดียวกัน ก็ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มาเลเซียผลิตเองอีกด้วย สื่อทางการจีนกล่าว.