xs
xsm
sm
md
lg

สงครามถล่ม ‘ไอเอส’ ทางอากาศได้ผลแค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Notes on the air war
By Brian M Downing
15/10/2014

ในขณะที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ทำท่าเหมือนจะสามารถหลบหลีกเล็ดรอดจากการถล่มทางอากาศของฝ่ายตะวันตกในอิรักและซีเรีย โดยพวกเขายังคงสามารถโผล่ขึ้นมาใหม่และเปิดการโจมตีซึ่งสร้างความเสียหายอันร้ายแรง สภาวการณ์เช่นนี้กำลังทำให้มีพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ไม่ให้ราคาแก่การรณรงค์โจมตีทางอากาศ โดยมองว่ามันประสบความล้มเหลว เป็นสิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนว่าสงครามคราวนี้มีทิศทางที่จะเป็นสงครามอันยืดเยื้อ และนั่นอาจดูเหมือนกับจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายไอเอส อย่างไรก็ดี ในทางเป็นจริงแล้ว กองกำลังอาวุธซึ่งพึ่งพาอาศัยความเร่าร้อนอย่างแรงกล้าและไม่รู้จักสิ่งใดอื่นนอกจากการเข้าพิชิตเอาชัยเหนือศัตรูได้สำเร็จ อาจจะมีการตอบสนองที่ไม่ดีนัก เมื่อต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันอยู่เป็นเดือนๆ

สงครามทางอากาศที่กระทำกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบคลุมระยะเวลานานประมาณ 5 ปี สงครามคราวนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด ยังคงเป็นที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทว่าหลังจากฝ่ายตะวันตกเข้าโจมตีทางอากาศต่อกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamist State ใช้อักษรย่อว่า IS) ในอิรักและซีเรีย ผ่านพ้นไปได้เพียงแค่ราว 5 สัปดาห์ พวกนักวิเคราะห์และนักการเมืองจำนวนมากก็กำลังแสดงท่าทีว่า พรักพร้อมแล้วที่จะวินิจฉัยตัดสินว่า การรณรงค์ทางอากาศดังกล่าวประสบความล้มเหลว

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการประเมินในทางลบเช่นนี้ น่าจะมาจากสถานการณ์รอบๆ เมืองโคบานี (Kobane) ของชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งตั้งประชิดพรมแดนตุรกี เพราะดูเหมือนแสนยานุภาพทางอากาศยังคงประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งการบุกคืบหน้าเพื่อเข้ายึดเมืองนี้ของกองกำลังอาวุธไอเอส (หมายเหตุผู้แปล-ข้อเขียนชิ้นนี้นำออกเผยแพร่ก่อนที่จะปรากฏข่าวในช่วงไม่กี่วันหลังๆ นี้ว่า กองกำลังของไอเอสกำลังถอยออกจากเมืองโคบานีแล้ว) อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงประการหนึ่งด้วยว่า พวกนักรบที่ทำการป้องกันเมืองโคบานีอยู่ในเวลานี้ มีลักษณะเป็นกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ติดอาวุธเบาและยังไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม รวมทั้งพวกเขายังกำลังสู้รบอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเขตหลักๆ ของชาวเคิร์ดในซีเรียและอิรัก

นอกจากนั้นแล้ว เรายังต้องตระหนักว่าพวกที่สนับสนุนเชิดชูแสนยานุภาพทางอากาศแทบทุกราย (อาจมียกเว้นเฉพาะผู้ที่มีความคิดสุดโต่งสุดกู่และไม่ค่อยทราบข้อมูลข่าวสารอะไรเท่านั้น) ต่างก็มีความคิดเห็นว่า การโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากกองทหารภาคพื้นดินที่ทรงประสิทธิภาพ จะไม่ทำให้ประสบชัยชนะในการยุทธ์ ในเวลาเดียวกัน ถึงแม้สถานการณ์รอบๆ เมืองโคบานี อาจทำให้เกิดความคลางแคลงเกี่ยวกับสงครามทางอากาศ ทว่าเมื่อมองเลยออกไปทางตะวันออก เราก็จะเห็นว่ากองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ดในอิรัก สามารถที่จะบุกผลักดันพวกไอเอสให้ล่าถอยออกไปจากบางพื้นที่ เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากการสนับสนุนทางอากาศ

**อากาศยานไร้นักบิน (โดรน)**

สหรัฐฯกำลังพึ่งพาอาศัยอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ในการระบุเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เครื่องบินขับไล่เข้าทำการโจมตี หรือบางครั้งบางคราวก็มีการใช้พวกปืนใหญ่และขีปนาวุธเข้าถล่มด้วย ในอัฟกานิสถานนั้น โดรนถูกนำมาออกมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเพื่อมุ่งสังหารพวกผู้นำกลุ่มตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะห์เท่านั้น หากยังเพื่อการสนับสนุนกองทหารของกองทัพอัฟกานิสถาน ซึ่งเวลานี้กำลังสู้รบอย่างห้าวหาญกับการโจมตีขนาดใหญ่ๆ ของพวกตอลิบาน

ถึงแม้ในหลักคิดทางทหารของสหรัฐฯเวลานี้ กำลังพึ่งพาอาศัยอาวุธประเภทอากาศยานไร้นักบิน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่ากลับยังคงมีการใช้โดรนในซีเรียและอิรักไม่มากเท่าที่ควร สาเหตุสำคัญที่สุดก็คือเพราะโดรนกำลังขาดแคลน หลังจากที่มีการจัดส่งไปปฏิบัติภารกิจทั้งในอัฟกานิสถาน, เยเมน, และ โซมาเลีย เป็นจำนวนมาก และสิ่งที่เกิดตามมาได้แก่ การเข้าสกัดยับยั้งความเคลื่อนไหวของกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มไอเอส ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง

วิธีเยียวยาแก้ไขประการหนึ่ง คือ การส่ง (หรือจริงๆ แล้วอาจจะต้องเรียกว่า การเพิ่ม ?) ทีมทหารหน่วยรบพิเศษเข้าไปบริเวณแนวรบและด้านหลังแนวรบของกลุ่มไอเอส เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการระบุเป้าหมายต่างๆ ถึงแม้วอชิงตันไม่ได้กระตือรือร้นเลยที่จะเพิ่มการปรากฏตัวทางภาคพื้นดิน แต่ขณะนี้อาจจะรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

ทางเลือกประการที่สอง ได้แก่การโยกย้ายนำเอาโดรนมาใช้ในยุทธบริเวณนี้มากยิ่งขึ้น การสู้รบในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นยุทธบริเวณสำคัญที่สุดที่มีการใช้อากาศยานไร้นักบินออกปฏิบัติการนั้น มีลักษณะที่ดำเนินไปตามช่วงฤดูกาลสูงมาก โดยที่พวกตอลิบานจะเริ่มทำการรุกตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิ และยุติลงประมาณกลางฤดูใบไม้ร่วง สภาวการณ์เช่นนี้จะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถโยกย้ายทรัพยากรต่างๆ มาใช้ในสงครามต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอเอสได้ ในอีกไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ โดยบางทีอาจจะไปอาศัยประจำการอยู่ตามฐานทัพและสิ่งปลูกสร้างทางทหารต่างๆ ในซาอุดีอาระเบีย (ในระยะหลังๆ มานี้ ฐานทัพอากาศปรินซ์สุลต่าน (Prince Sultan Air Base) ซึ่งตั้งอยู่ติดๆ กับบริเวณตอนใต้ของกรุงริยาด ก็ได้กลายเป็นฐานของโดรนอเมริกันที่ส่งเข้าไปปฏิบัติการในเยเมนอยู่แล้ว โดยที่มิได้มีการออกข่าวป่าวร้องเอิกเกริก)

หลังจากได้กระทำความบกพร่องผิดพลาดจำนวนมากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวลานี้สหรัฐฯกำลังปรารถนาที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ของสงครามโดรน ถ้าหากนำเอาอากาศยานไร้นักบินออกมาใช้พิทักษ์คุ้มครองชาวเคิร์ดและประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในอิรักและซีเรีย ให้รอดพ้นจากการถูกเข่นฆ่าสังหารหมู่ของพวกไอเอส ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ย่อมส่งผลดีเป็นอย่างมากให้แก่โครงการการวิจัยพัฒนาและผลิตอากาศยานประเภทนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้ทุ่มลงทุนไปมากในช่วงหลายปีหลังๆ นี้

**อาวุธต่อต้านอากาศยาน**

ซีเรียนั้นคงจะออกมาคัดค้าน ถึงแม้เป็นการคัดค้านแบบสองจิตสองใจไม่ได้เต็มที่อะไร เมื่อมีการอากาศยานทางทหารเข้าไปละเมิดน่านฟ้าของตน หรือเมื่อในอนาคตข้างหน้า มีการจัดส่งอาวุธและกำลังพลใดๆ ไปให้แก่พวกกองกำลังอาวุธฝ่ายกบฎ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะส่งผลไปในทางที่บั่นทอนลดระดับสมรรถนะของกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของพวกไอเอส ดังนั้น การประท้วงว่าถูกละเมิดน่านฟ้าของซีเรีย จึงไม่น่าที่จะไปไกลถึงขนาดนำไปสู่การปฏิบัติการทางการทหาร

อันที่จริง ถ้าหากกองทัพอากาศของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) จะเข้าโจมตีนักรบซีเรียและยิงขีปนาวุธเข้าใส่อากาศยานอเมริกันแล้ว วอชิงตันก็คงจะรู้สึกยินดี เพราะมันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่สหรัฐฯ ในการทำลายกำลังทางอากาศของรัฐบาลซีเรีย โดยที่ตลอดระยะเวลา 2 ปีหลังสุดนี้ กำลังทางอากาศนี้แหละมีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการตีกระหน่ำให้กองกำลังฝ่ายกบฏต้องยอมล่าถอยจากหลายๆ พื้นที่ ถ้าหากอัสซาดไม่มีเครื่องบินขับไล่แล้ว กองทหารของเขาเองนั่นแหละจะตกเป็นฝ่ายถูกผลักดันให้ถอยร่น

พวกระบบอาวุธต่อต้านอากาศยาน ประเภทจรวดประทับบ่ายิงที่สามารถพกพาเคลื่อนย้ายง่าย (MANPADS) เป็นต้นว่า อาวุธปล่อยนำวิถี “สติงเจอร์” (Stinger) ของสหรัฐฯ ถือเป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งสำหรับอากาศยานที่เข้าโจมตีเป้าหมายไอเอสในยุทธบริเวณอิรัก-ซีเรีย พวกไอเอสอาจจะได้อาวุธเหล่านี้จากแหล่งที่มาสองสามแหล่ง ทั้งนี้ มีรายงานว่า คลังแสงของกองทัพซีเรียแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองอะเลปโป (Aleppo) ได้ถูกโจมตี และอาวุธปล่อยนำวิถี “เอสเอ-18” (SA-18) ผลิตในรัสเซียจำนวนหนึ่งได้ตกอยู่ในมือของพวกกบฏ จรวดเอสเอ-18 อีกจำนวนหนึ่งจากคลังสรรพาวุธอันใหญ่โตของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ก็เห็นกันว่ากำลังกระจัดกระจายไปในตะวันออกกลางและหลายๆ ส่วนของทวีปแอฟริกา ภายหลังจอมเผด็จการแห่งลิเบียผู้นี้ถูกโค่นล้ม ยิ่งกว่านั้น ยังมีพวกซาอุดีอาระเบียไปให้สัญญาที่จะจัดส่งจรวด เอฟเอ็น-6 (FN-6) ผลิตในประเทศจีน ให้แก่พวกกองกำลังอาวุธกบฏในซีเรีย เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้การที่กรุงดามัสกัสใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งระเบิดถังน้ำมัน (barrel bombs) ใส่ฝ่ายกบฏ

อาวุธประเภท MANPADS นั้น จะใช้ไม่ค่อยได้ผลนักถ้าหากยิงใส่เครื่องบินซึ่งปฏิบัติการอยู่ในระดับเพดานบินสูงๆ อย่างที่เครื่องบินรบของฝ่ายตะวันตกจำนวนมากกระทำ ในเวลาที่ปล่อยอาวุธความแม่นยำสูงเข้าสู่เป้าหมายเบื้องล่าง ทว่ามันจะมีบทบาทใช้การได้ดี ในการเล่นงานพวกเฮลิคอปเตอร์ “อาปาเช” (Apache) ของอเมริกา ซึ่งกำลังมีการใช้งานอยู่ในเวลานี้ด้วย

ด้วยการพาดหัวประโคมข่าวของสื่อมวลชน และจากการแสดงที่ปรากฏในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ทำให้อาวุธต่อสู้อากาศยานประเภท MANPADS ได้รับการยกย่องเชิดชูในระดับกลายเป็นตำนาน อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-อัฟกานิสถาน (Russian-Afghan War)[1] ชิ้นหนึ่งของเพนตากอนระบุว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ เลยว่าเครื่องบินของรัสเซียได้เกิดการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีการจัดส่งจรวดสติงเจอร์ ไปให้แก่พวกนักรบมุจาฮีดีนกลุ่มต่างๆ ในอัฟกานิสถาน

**ผลของสงครามทางอากาศต่อการปฏิบัติการภาคพื้นดิน**

แสนยานุภาพทางอากาศ เมื่อใช้เล่นงานกองทหารซึ่งรวมศูนย์กำลังกันอยู่ สามารถที่จะสร้างความเสียหายได้อย่างมโหฬาร ทว่าสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นมากกว่าก็คือพวกทหารจะมีการซุกซ่อนและขุดพาตัวเองลงสู่ใต้ดินให้ลึกยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดฤทธิ์เดชของสะเก็ดระเบิดและความสั่นสะเทือนอันรุนแรง รวมทั้งยังทำให้ทหารพากันกระจายตัวกันออกไป สำหรับในกรณีของพวกไอเอส การโจมตีทางอากาศยังจะนำไปสู่การใช้พลเรือนมาเป็นโล่กำบังอีกด้วย

การยิงปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง สามารถที่จะทำให้เกิดความตระหนกตกใจถึงขั้นเสียขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกองทหารที่ยังมีประสบการณ์น้อย พวกทหารผ่านศึกจากสงครามจำนวนมากต่างพูดถึงเรื่องเช่นนี้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ชวนสยดสยองมากที่สุด ในเวลาที่ถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่และการถูกถล่มทางอากาศ กองทหารไม่สามารถที่จะยิงตอบโต้เอาคืนอย่างมีความหมาย เหมือนกับในเวลาสู้รบกับกองกำลังภาคพื้นดิน พวกเขาต้องอดทนแบกรับพลังสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอันทรงอำนาจ และติดตามมาในทันทีด้วยภาวะสุญญากาศชั่วขณะซึ่งจะฉุดกระชากลากดึงอากาศออกไปจากปอดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การถูกถล่มด้วยปืนใหญ่และการถูกโจมตีทางอากาศ มีส่วนทำให้ผู้รอดชีวิตเกิดความผูกพันรู้สึกเป็นหน่วยเดียวกันอย่างแนบแน่นขึ้นอีกมาก ในขณะที่พวกเขาทราบว่าพวกเขาได้เผชิญหน้ากับพลังอำนาจสูงที่สุดซึ่งฝ่ายศัตรูจะประเคนให้ได้ แล้วยังสามารถรอดชีวิตผ่านออกมาได้

ในอีกด้านหนึ่ง กองทหารภาคพื้นดินที่ยกขบวนกันออกมาต่อสู้กับพวกไอเอส ซึ่งในเวลานี้ได้แก่กองกำลังอาวุธชาวเคิร์ด และกองทหารอิรัก ต่างรู้สึกมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาก จากการปรากฏตัวของฝูงเครื่องบินขับไล่เหนือศีรษะ พวกเขาทราบว่ากองทหารไอเอสที่พยายามรวมกำลังกัน จะถูกระบุชี้เป้า และถูกโจมตี โดยที่การถล่มโจมตีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายข้าศึกศัตรูจะไม่สามารถแก้เผ็ดเอาคืน และเป็นการโจมตีในขณะที่กองทหารของข้าศึกยังอยู่ห่างไกลออกไปจากพวกเขา ทว่าโชคร้ายที่แสนยานุภาพทางอากาศก็จะส่งผลในทางบั่นทอนทำให้กองทหารซึ่งยังไม่ค่อยเข้มแข็งฮึกเหิม ลดความปรารถนาที่จะเข้าไปประชิดศัตรู โดยที่จะคิดกันว่าไปตั้งรับรอคอยอยู่ในที่มั่นซึ่งแข็งแรง แล้วปล่อยให้พวกนักบินเครื่องบินขับไล่ทำงานจัดการกับข้าศึกศัตรูไปดีกว่า

ยุทธวิธีอย่างหนึ่งซึ่งจะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่การอาศัยกองกำลังภาคพื้นดินเข้ากดดันให้กองทหารของไอเอสต้องรวมศูนย์กำลังกัน และต้องจัดขบวนลำเลียงยุทธสัมภาระเข้ามาให้เพิ่มเติม จากนั้นจึงเข้าโจมตีพวกเขาจากทางอากาศ โชคร้ายที่ในปัจจุบันยังไม่มีพวกศัตรูของไอเอสใดๆ ซึ่งมีความปรารถนาหรือมีความสามารถในการออกปฏิบัติการดังกล่าวนี้ได้

สำหรับเหล่าผู้บังคับบัญชาของการรณรงค์โจมตีทางอากาศของฝ่ายตะวันตก พวกเขาจะมีเป้าหมายให้เข้าถล่มอย่างไม่ขาดสาย เพราะพวกเขาจะสามารถชี้ระบุเป้าหมายใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ และด้วยเหตุนี้ก็จะกลายเป็นเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการคงการปฏิบัติการในลักษณะนี้ของพวกเขา (โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะทำให้กองทหารภาคพื้นดินชาวอิรักเกิดความรู้สึกเฉื่อยชาต่อไปอย่างยาวนาน) การรณรงค์โจมตีทางอากาศอย่างยืดเยื้อ ยังจะเปิดทางให้พวกนักการเมืองชาวอิรัก, พวกผู้อาวุโสของชนเผ่าชาวสุหนี่, และพวกผู้นำชาวเคิร์ด สามารถที่จะเพิกเฉยละเลยการดำเนินการตกลงรอมชอมกันทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าหากจะเปิดการรุกโจมตีภาคพื้นดินต่อกลุ่มไอเอส

**การสู้รบอันยืดเยื้อยาวนาน**

เมื่อไม่มีนายพลหรือนักการเมืองผู้เก่งกาจและมุทะลุใดๆ ออกมาเสนอลู่ทางในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มไอเอส ที่จะประสบความสำเร็จโดยฉับพลันทันที สหรัฐฯก็จะได้โอกาสในการวัดสมรรถนะของกองกำลังทางอากาศของพวกชาติพันธมิตร ทั้งในฝ่ายอาหรับและในฝ่ายตะวันตก หลังจากที่การรุกโจมตีของกลุ่มไอเอสในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดเผยให้เห็นแล้ว (ด้วยรายละเอียดอันน่าตระหนกตกใจ) ว่ากองทหารอิรักนั้นไร้ความสามารถและขาดความเป็นมืออาชีพขนาดไหน ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคราวนั้นทำให้พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมา (ถึงแม้อาจจะไม่ได้เป็นการข้องใจอย่างยาวนานอะไร) เกี่ยวกับความสามารถของกองทัพซาอุดีอาระเบียและกองทหารอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้

พวกนักวิเคราะห์ยังได้แสดงความวิตกกังวลทำนองเดียวกันนี้ ต่อกองกำลังทางอากาศของพวกชาติพันธมิตรในองค์การนาโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังผลงานการแสดงออกของพวกเขาในการรณรงค์โจมตีกองทหารของกัดดาฟีเมื่อปี 2011 การสู้รบเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้นคราวนั้น ได้ก่อให้เกิดความเครียดเค้นอย่างร้ายแรงขึ้นในกองทัพของชาตินาโต้ที่เข้าร่วมหลายๆ ราย ทั้งๆ ที่เป็นการปฏิบัติการในดินแดนซึ่งไม่ได้อยู่ห่างไกลอะไร เพียงแค่อยู่ถัดจากยุโรปไปทางตอนใต้เท่านั้น สภาพความไม่พร้อมเช่นนี้ทำเอา โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) ผู้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯในตอนนั้น ไม่สามารถที่จะระงับความขุ่นเคืองของเขาเอาไว้ได้ และออกมาตำหนิติเตียนพวกมหาอำนาจนาโต้รายสำคัญๆ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ควรต้องชี้ด้วยว่า ความสามารถของกองทัพชาตินาโต้ยังจะเป็นที่สนใจเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดของรัสเซีย ผู้ซึ่งแสดงความแข็งกร้าวออกมามากขึ้นในระยะหลังๆ นี้

เมื่อไม่มีการระดมนำเอากองทหารภาคพื้นดินของพวกประเทศตะวันตกออกมาร่วมสู้รบ สงครามปราบปรามไอเอสคราวนี้จึงจะไม่ต้องเผชิญกับกระแสคัดค้านรุนแรงตามเมืองหลวงต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก ระดับการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนชาวตะวันตกก็ไม่น่าจะสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับมือได้ โดยที่มีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าอาจจะมีพวกเจ้าผู้ครองรัฐชาวสุหนี่ในตะวันออกกลาง ออกมาช่วยสนับสนุนชดเชย ทำนองเดียวกับที่พวกเขาได้กระทำเมื่อครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (First Gulf War)[2]

ตรงกันข้าม อารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นของสาธารณชนในตะวันออกกลางต่างหาก ที่อาจจะมีความสำคัญมากกว่า เพราะการรณรงค์โจมตีทางอากาศของฝ่ายตะวันตก มีความสอดคล้องกับการโฆษณาที่ได้มีผู้กระทำมายาวนานว่า ชาวยุโรปและชาวอเมริกันวางแผนการที่จะดูหมิ่นหยามหยัน, ปลุกปั่นยุยง, และเข้าควบคุมตะวันออกกลางเอาไว้ ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนจากการโจมตีทางอากาศกำลังเริ่มปรากฏออกมาแล้ว และตัวเลขนี้จะสูงขึ้นต่อไปอีก

กระนั้นก็ตามที เมื่อมองกันโดยภาพรวมแล้ว สงครามในลักษณะยืดเยื้อเช่นนี้ ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มไอเอสเสมอไป กองกำลังอาวุธที่พึ่งพาอาศัยความเร่าร้อนอย่างแรงกล้าตลอดจนความมุทะลุดุดัน และไม่รู้จักสิ่งใดอื่นนอกจากการได้เข้าพิชิตมีชัยเหนือข้าศึกศัตรู อาจจะมีการตอบสนองที่ไม่ดีนัก เมื่อต้องประสบกับภาวะชะงักงันอยู่เป็นเดือนๆ ตลอดจนกำลังพลที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ เมื่อถึงตอนนั้น พวกผู้บังคับบัญชาของไอเอส อาจจะถูกกระตุ้นให้ต้องเดินหมากอย่างห้าวหาญและเสี่ยง และใช้ความพยายามอย่างหุนหันไม่รอบคอบ ด้วยความหวังที่จะประคับประคองโมเมนตัมและขวัญกำลังใจของฝ่ายตนเอาไว้

หมายเหตุผู้แปล

[1]สงครามรัสเซีย-อัฟกานิสถาน (Russian-Afghan War) ชื่อที่นิยมเรียกขานกันมากกว่าของสงครามที่กินเวลา 9 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1979 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1989 คราวนี้ คือ “สงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน” (Soviet war in Afghanistan) โดยเป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพสหภาพโซเวียต ซึ่งยกเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลอัฟกานิสถานที่อยู่ใต้อิทธิพลของตน กับพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบของชาวมุสลิมหลายสัญชาติที่เรียกรวมๆ กันว่าพวกมุจาฮีดีน (Mujahideen) ทั้งนี้นักรบมุจาฮีดีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุด รวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตร 2 กลุ่ม ได้แก่ “เปชาวาร์ 7” (Peshawar Seven) และ “เตหะราน 8” (Tehran Eight) โดยที่พันธมิตรเปชาวาร์ 7 เป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการทหารในชาติเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานอย่าง ปากีสถาน และจีน รวมทั้งได้รับอาวุธและเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ, อังกฤษ, ซาอุดีอาระเบีย, และประเทศอื่นๆ ส่วนกลุ่มพันธมิตรเตหะราน 8 ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมนิกายชิอะห์ ได้รับความสนับสนุนจากอิหร่าน สงครามคราวนี้ส่งผลให้มีพลเรือนชาวอัฟกันเสียชีวิตไประหว่าง 850,000 ถึง 1.5 ล้านคน และอีกหลายล้านคนหลบหนีออกจากประเทศ ส่วนใหญ่อพยพไปยังปากีสถานและอิหร่าน

สหภาพโซเวียตนั้นเริ่มส่งทหารเข้าสู่อัฟกานิสถานในเดือนธันวาคม 1979 จากนั้นก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับ 108,800 คนในปี 1985 โดยที่กองทหารโซเวียตเข้ายึดครองตัวเมืองใหญ่ๆ และศูนย์คมนาคมสำคัญๆ ขณะที่พวกนักรบมุจาฮีดีนแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทำการสู้รบแบบสงครามจรยุทธ์ ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การสู้รบในอัฟกานิสถานได้สร้างภาระหนักหน่วงให้แก่สหภาพโซเวียต กระทั่ง มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในปี 1985 สหภาพโซเวียตจึงมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างชัดเจน และประกาศในกลางปี 1987 ว่าจะเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน กระทั่งถอนจนหมดสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1989 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2]สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (First Gulf War) เป็นสงครามที่กองทหารพันธมิตรจาก 34 ชาตินำโดยสหรัฐฯ สู้รบกับอิรัก เพื่อเป็นการตอบโต้การที่อิรักเข้ารุกรานคูเวต และประกาศผนวกคูเวตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

กองทัพอิรักเริ่มรุกรานคูเวตในวันที่ 2 สิงหาคม 1990 ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ รวมทั้งถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู บุช (บุชผู้พ่อ) ของสหรัฐฯ ได้จัดส่งกองทหารสหรัฐฯเข้าไปเตรียมการในซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับเรียกร้องประเทศอื่นๆ ส่งทหารเข้าไปสมทบ และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตร โดยที่ทหารส่วนใหญ่ที่สุดมาจากสหรัฐฯ ถัดลงมาเป็นทหารจากซาอุดีอาระเบีย, อังกฤษ, และอียิปต์ ตามลำดับ ซาอุดีอาระเบียยังตกลงออกเงินค่าใช้จ่ายให้ประมาณ 36,000 ล้านดอลลาร์ จากจำนวนทั้งสิ้น 60,000 ล้านดอลลาร์

ในวันที่ 17 มกราคม 1991 กองทหารของกลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ เริ่มเปิดฉากการขับไล่ทหารอิรักออกจากคูเวต ด้วยการถล่มโจมตีทางอากาศและทางเรือ และกระทำต่อเนื่องไปเป็นเวลา 5 สัปดาห์ จากนั้นจึงติดตามด้วยการโจมตีภาคพื้นดินในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาด สามารถปลดปล่อยคูเวต และรุกคืบหน้าเข้าไปในดินแดนอิรัก กลุ่มพันธมิตรได้ยุติการรุกและประกาศหยุดยิง ภายหลังศึกภาคพื้นดินเริ่มต้นขึ้นมาได้ 100 ชั่วโมง จึงถือกันว่าสงครามคราวนี้ยุติลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1991 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น