xs
xsm
sm
md
lg

วี-22 “เหยี่ยวอหังการ” อากาศยานสุดล้ำ จอมแย่งซีนคอบราโกลด์ 13

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>วี-22บี ออสปรีย์ สองลำลงจอดบนดาดฟ้าเรือโบนโฮมริชาร์ด (USS Bonhomme Richard LHD-6) ขณะแล่นในทะเลอ่าวไทยวันที่ 19 ก.พ.2556 ไม่กี่วันก่อนปิดฉากการฝึกร่วมอันใหญ่โตที่สุดในภูมิภาคประจำปีนี้ เหยี่ยวอหังการ 4 ลำบินตรงจากโอกินาวามายังกองบิน 1 นครราชสีมา แบบ นันสต็อป เป็นระยะทางกว่า 3,000 กม. โดยเติมน้ำมันกลางอากาศ โชว์ศักยภาพแบบ น้ำท่วมหรือแผ่นดินไหวที่ไหนเราไปถึงที่นั่น การเข้าร่วมโคบราโกลด์ครั้งที่ 32 ของออสปรีย์ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเข้าพื้นที่เพื่อรู้สภาพและแสดงสัญลักษณ์ประกอบส่วนการคืนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐซึ่งเริ่มปีนี้. --  US Navy Photo/Mass Communication Specialist 2nd Class Jerome D Johnson</b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์-- การฝึกร่วมคอบราโกลด์ 2013 สิ้นสุดลงตามกำหนดการในวันพฤหัสบดี 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และหากมองย้อนหลังไปในช่วงกว่า 10 วันมานี้ก็จะพบว่า การฝึกครั้งที่ 32 ภายใต้รหัสชื่อนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมียานบินล้ำยุค V-22 Osprey “เหยี่ยวถลาลม” มาร่วมด้วยเป็นครั้งแรก และได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์อันสำคัญในการกลับคืนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพสหรัฐฯ

ถ้าหากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ล้ำยุค บี-2 “อ้ายปีศาจ” (Spirit ) กับ “ป้อมบิน” บี-52 (Stratofortress) ที่กลับคืนไปประจำการบนเกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นสัญลักษณ์การกลับคืนของกองทัพอากาศ และเรือโจมตีชายฝั่ง LCS-1 และ LCS-2 ที่จะไปประจำการในสิงคโปร์เร็วๆ นี้ เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือ การเข้าสู่ไทย และอ่าวไทยของออสปรีย์ก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ

ระหว่างวันที่ 11-21 ที่ผ่านมา ทหารกับเจ้าหน้าที่ราว 13,000 นาย จาก 7 มิตรประเทศคือ สหรัฐฯ ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันฝึกในหลายด้าน หลายเนื้อหา ครอบคลุมพื้นที่ภาคต่างๆ ของไทย ซึ่งรวมทั้งการฝึกยิงด้วยอาวุธ และกระสุนจริง การฝึกที่ใช้คอมพิวเตอร์กำหนดสภาพสนาม การฝึกตามโครงการช่วยเหลือด้านพลเรือน และด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการอพยพเร่่งด่วนโดยเฮลิคอปเตอร์ระหวางทหารสหรัฐฯ กับทหารญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้ร่วมราว 20 คน

และปีนี้เป็นปีแรกที่มีผู้แทนจากกองทัพพม่าเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามคำเชิญ

ภาพนาวิกโยธินสหรัฐฯ กลืนแมงป่อง ตัวโตลงคอแบบสดๆ อีกหลายคนรวมทั้งนาวิกโยธินหญิงอ้าปากรองเลือดสดๆ ที่กรีดจากคองูเห่าโดยตรง ระหว่างเรียนการเอาชีวิตรอดในป่าเขตร้อนจากนาวิกโยธินไทย -- ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

และแม้ว่าสหรัฐฯ จะส่งอากาศยานหลายชนิด ซึ่งรวมทั้ง F-18E “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” เข้าร่วมฝึกด้วยก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วงการทหารในภูมิภาคแถบนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จีน ได้จับตาไปยังไฮไลต์แท้จริงของงาน นั่นคือ การปรากฏตัวในคอบราโกลด์เป็นครั้งแรกของเหยี่ยวออสปรีย์

ก่อนคอบราโกลด์ 2013 จะสิ้นสุดลงเพียงไม่กี่วัน เหยี่ยวอหังการได้ ลงจอดบนดาดฟ้าเรือโบนโฮมริชาร์ด (USS Bonhomme Richard -LHD 6) ในอ่าวไทย ซึ่งแม้ว่าจะมิใช่ครั้งแรกที่ V-22 ลงจอดบนเรือจู่โจมยกพลขึ้นบกลำนี้ แต่เป็นครั้งแรก “ในขณะออกปฏิบัติการในระยะไกล” กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ รายงานในเว็บไซต์

สหรัฐฯ เลือกประเทศไทย กับอ่าวไทยเป็นสถานที่สำหรับกระทำการอันเป็นสัญลักษณ์นี้ สื่อกลาโหมในภูมิภาคหลายสำนักตั้งเป็นข้องสังเกต

เที่ยวปฐมฤกษ์เข้าไทย YouTube.Com


วี-22 จำนวน 4 ลำ บินจากฐานทัพสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น บนเกาะโอกินาวา ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังประเทศไทย เป็นระยะทางกว่า 3,000 กม. ถึงกองบิน 1 จ.นครราชสีมา ในวันที่ 8 ก.พ. เพื่อเตรียมการฝึกร่วมครั้งใหญ่ บินสบายๆ ด้วยความเร็ว 300 ไมล์/ชั่วโมง (กว่า 480 กม./ชม.) ในระดับความสูง 25,000 ฟุต (7,620 เมตร) โดยมี KC-130J ช่วยเติมน้ำมันกลางอากาศ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐฯ

ออสปรีย์ทั้ง 4 ลำ ไม่ได้มีภารกิจมากมายในการฝึกคอบราโกลด์ปีนี้ แต่หากเป็นการอวดศักยภาพของอากาศยานล้ำยุคกึ่งเฮคิคอปเตอร์กึ่งเครื่องบิน เป็นการย้ำให้เห็นว่าในยามเกิดภัยพิบัติรุนแรง ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรือไกลเพียงใด “เหยี่ยวอหังการ” สามารถเข้าถึง เพื่อภารกิจค้นหา และกู้ภัยได้ท่วงทันเวลา เช่นเดียวกันกับภารกิจสนับสนุนการรุกรบของฝ่ายทหาร

ภารกิจสำคัญในอันดับต้นๆ อีกประการหนึ่งของออสปรีย์ทั้ง 4 ลำก็คือ การ “ทำเส้นทางการบิน” ซึ่งแม้ว่าทุกตารางนิ้วของประเทศไทยจะไม่ได้มีอะไรเหลือเป็นความลับสำหรับมหามิตรยุทธศาสตร์ ซึ่งปีนี้กำลังฉลองครบรอบปีที่ 180 ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างกันก็ตาม แต่สำหรับออสปรีย์นั้นสภาพภูมิประเทศของไทยเป็นเรื่องใหม่

“เราเข้าไทยเพื่อจัดทำเส้นทางต่างๆ สำหรับเอ็มวี-22 เพราะว่าพวกเรายังใหม่ในย่านแปซิฟิก เราจำเป็นต้องมีการจัดวางเส้นทางเหล่านี้” และการฝึกบินระยะต่ำ 500 ฟุต (130 เมตร) หรือกว่านั้นในสภาพพื้นที่เบื้องล่างที่แตกต่างกันไป เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักบินวี-22 รวมทั้งในพื้นที่ที่มีการคุกคามจากข้าศึก เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์ในวันที่ 8 ก.พ. ก่อนไปถึงไทย มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐฯ

เลือกอ่าวไทยเป็นทำเล US NAVY Photo

2

3

4

5

6

7
นายทหารเรือสหรัฐฯ ผู้หนึ่งกล่าวว่า การลงจอดบนเรือโบนโฮมริชาร์ด ใน 13 วันถัดมา เป็น “เป็นอีกก้าวหนึ่ง” ของ V-22 กับเรือดังกล่าวเนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำอากาศยานแบบใหม่ที่มีน้ำหนักมากลงจอดในขณะเรือกำลังแล่นปฏิบัติการตามปรกติ และมวลอากาศที่พ่่นออกปะทะกับลานจอดขณะลงในแนวดิ่งก็มีความดันมากกว่า ฮ.ทั่วไป

กองทัพสหรัฐฯ ได้ทยอยนำออสปรีย์เข้าประจำการแทนที่เฮลิคอปเตอร์แบบ CH-46E “ซีไนท์” (Sea Knight) แบบเดียวกับที่ประสบอุบัติเหตุตกในเขตภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ระหว่างการฝึกสัปดาห์นี้ “อัศวินแห่งท้องทะเล” ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคสงครามเย็น

ออสปรีย์ออกแบบมาเป็นอากาศยานลำเลียงขนส่งขนาดกลาง และสนับสนุนการจู่โจมภาคพื้นดิน เช่นเดียวกับ CH-46 แต่ออสปรีย์บินได้ทั้งแบบ ฮ. และเป็นเครื่องบินไปในตัว บินได้ในระดับความสูงเท่าๆ กับเครื่องบินติดเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพทั่วไป

ออสปรีย์ติดเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ 2 เครื่อง บินได้เร็วกว่า CH-46 สองเท่าตัว บินได้ไกลกว่า 6 เท่า บรรทุกได้มากกว่าถึง 3 เท่า กองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นอากาศยานลำเลียงขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วย/คน ต่ำที่สุดในบรรดาอากาศยานที่มีใช้ในขณะนี้

พัฒนามายาวนานกว่า 20 ปี ผ่านอุบัติเหตุร้ายแรงระหว่างทดสอบมาหลายครั้ง ฟันฝ่าเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยาน และฝ่ายการเมืองมาก็หลายหน แต่ในที่สุด V-22 ก็มีวันนี้ ซึ่งบริษัทร่วมทุนระหว่างโบอิ้งกับเบล (Bell-Boeing) ผลิตออกมาเป็นบล็อกที่ 3 คือ Block C ปรับปรุงเพื่อเน้นหนักภารกิจของกองทัพเรือกับนาวิกโยธินโดยเฉพาะ

ตามข้อมูลของโบอิ้งคอมปานี จนถึงปัจจุบันมี V-22 รุ่นต่างๆ จำนวน 165 ลำ ใช้การอยู่ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ จำนวน 10 หน่วย กับในหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษกองทัพอากาศอีก 2 หน่วย นาวิกโยธินต้องการทั้งสิ้น 360 ลำ กองทัพอากาศอีก 50 ลำ ส่งมอบครั้งสุดท้ายปีที่แล้ว 39 ลำ และ 34 ลำในปี 2557

พับนกแปลงร่างในญี่ปุ่น
YouTube.Com

เที่ยวก่อนหน้านี้
YouTube.Com


อากาศยานแบบโรเตอร์ปรับเอียงได้ (Tilted Rotor) ยาวตลอดลำ 17.48 ม. สูง 6.73 ม. ระยะเหวี่ยงของโรเตอร์ทั้งสองข้าง 25.78 ม. พับเก็บโรเตอร์ได้ทำให้เก็บในโรงเก็บใต้ท้องเรือบรรทุกเครื่องบินได้เช่นเฮลิตอปเตอร์ทั่วไป

ออสปรีย์บรรทุกน้ำหนักได้ 24 ตัน สำหรับการขึ้นลงแนวดิ่ง และ 26 ตัน หากใช้วิธีแล่นขึ้นลงระยะสั้น มีนักบินกับนักบินผู้ช่วยผู้ช่วย และลูกเรือประจำอีก 1 คน บรรทุกทหารติดอาวุธครบมือได้อีก 24 คน ระยะปฏิบัติการกว่า 1,100 กม. บินด้วยความเร็วปกติ หรือ “ครูยส์” 510 กม./ชม.

จนถึงขณะนี้ ออสปรีย์ที่อยู่ทั่วโลกมีชั่วโมงบินปฏิบัติการรวมกันแล้วกว่า 135,000 ชั่วโมง ผ่านการฝึกมาทุกรูปแบบ ทั้งการค้นหากู้ภัยระยะไกล กู้ภัยเรือดำน้ำกลางทะเลหลวง ผ่านปฏิบัติการในสนามรบจริงทั้งสงครามอ่าว สงครามอิรัก และสงครามในอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯ กำลังจะนำ V-22 เข้าประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 10 ลำ และบนเรือสนับสนุนกับเรือโจมตีทุกลำ ซึงรวมทั้งในกองทัพเรือที่ 7 ที่รับผิดชอบเขตทะเลจีนใต้กับย่านแปซิฟิกตะวันตกทั้งหมดด้วย

ออสปรีย์เพิ่งเข้าประจำการที่ฐานทัพโอกินาวาปลายปีที่แล้ว และในเดือน ม.ค.ปีนี้ ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมกับกองทัพฟิลิปปินส์ที่เกาะปาลาวัน (Palawan) ที่มีอาณาบริเวณติดกันกับเขตหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออสปรีย์ปรากฏตัวในกลุ่มอาเซียน

การปรากฏตัวในอ่าวไทยสัปดาห์นี้ทำให้เหยี่ยวออสปรีย์ไม่เป็นอากาศยานแปลกปลอมในภูมิภาคนี้อีกต่อไป.
.

กำลังโหลดความคิดเห็น